วันอังคารที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2552

ตามรอย SOTUS อดีต --> ปัจจุบัน

สรุปประเด็นจากการสัมภาษณ์ ศ.ดร.ระพี สาคริก อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
และศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รุ่น KU 2
ผู้ได้สัมผัสมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ตั้งแต่ พ.ศ.2482

ผู้สัมภาษณ์ อ.ปัญญา เหล่าอนันต์ธนา
==========================================================
####ฝากให้คิดก่อนสัมภาษณ์####

การศึกษา-วัฒนธรรมของไทย มักตามรอยต่างชาติ
ให้นึกถึงรถแข่งในสนามแข่ง แม้จะดูว่าแข่งขันกัน แต่ถนนมีกรอบ รถทุกคันมีอิสระที่จะวิ่งไป
ไม่ได้บังคับให้วิ่งตามกันตลอด
ถ้าวิ่งตามกันในถนนปกติ คันหน้าเห็นเหวแล้วหลบ คันหลังหลบไม่ทันก็ลงเหว
สรุปแล้ว อะไรก็ตามถ้าเราตามเขา เราเปลี่ยนแปลงยาก
สิ่งที่เราตามอเมริกา หรือ ยุโรป ตอนนี้เขาเห็นเหว เขาหลบแล้ว แต่เรายังไม่เห็น

##### เรื่องความรักเกษตร-รักพวกพ้อง ####
3-4 ปีก่อน มีสื่อเคยสัมภาษณ์ท่านที่หน้าอนุสาวรีย์สามบูรพาจารย์ ถามว่า
“อาจารย์รักเกษตรไหม” ท่านเข้าใจวัตถุประสงค์ที่ถามและตอบไปว่า
“รักสิ เพราะเกษตรเป็นของแผ่นดิน แต่ผมไม่ใช่พวกเกษตรนะ” นี่พูดให้คิด
ปัญหาใหญ่ของคนไทยคือ ความเป็นพวกสูงมาก ไม่ใช่เฉพาะที่เกษตรแต่มีทุกที่
เราจึงบูรณาการไม่สำเร็จ เพราะใจไม่บูรณาการ

1 - #### ที่มาของ SOTUS #####

ย้อนไปสมัยก่อนก่อตั้งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รัฐบาลไทยในสมัยนั้น ยกย่องอเมริกามาก
พออเมริกาได้ฟิลิปปินส์เป็นเมืองขึ้น แล้วตั้งมหาวิทยาลัยทางการเกษตรที่ Lospanos
เมื่อเข้ามาแล้วก็ปรับอะไรบางอย่าง แทรกวัฒนธรรม เข้าไป
แม้อเมริกาไม่รู้จักปลูกอ้อย แต่เมื่อมาเขตร้อน ก็ผลิตตำราด้านพืชเขตร้อนออกมามากมาย
ประเทศเราก็อยู่ในเขตร้อน จึงส่งนักเรียนทุนไปเรียนที่นั่น
ต้นกำเนิดของการรับน้องใหม่ของเรา จึงรับมาจากฟิลิปปินส์ ซึ่งรับมาจากอเมริกาอีกทอดหนึ่ง
แนวความคิดของการรับน้องเหล่านี้ มากับระบบการศึกษา
ของจุฬาฯก็คงมีเหมือนกัน ท่านอาจารย์อาวุโสของจุฬาคงให้รายละเอียดได้
แต่ของจุฬาจะไม่มีความรุนแรง
ส่วน SOTUS ของเกษตร มากับระบบการศึกษาแบบอเมริกัน


- 2 - #### เมื่อเกษตรนำ SOTUS มาใช้ ####
ครั้งแรกที่รับมา ไม่รุนแรงเท่าในปัจจุบัน
สมัยนั้น นิสิตต้องเรียนเตรียมเกษตรที่แม่โจ้ เป็นเวลา 2 ปี
คุณพระช่วงฯ ท่านมีแนวคิดว่า เกษตรต้องสู้ ต้องอดทน อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ขาดแคลน
ไฟฟ้า น้ำประปา ไม่มี อาหารก็แทบไม่มีกิน
เนื่องจากได้ยินกิจสรรพเรื่องความขาดแคลน น้องใหม่ก็ซื้อของตุนไว้ทุกอย่างเพราะกลัวอด
เมื่อไปถึงรุ่นพี่ก็จะมารับรุ่นน้องที่สถานีรถไฟ
ครั้งแรกที่พบกันรุ่นพี่จะช่วยเหลือบริการทุกอย่าง(เพื่อให้น้องแสดงธาตุแท้ออกมา)
ในระหว่างนั้นก็จะคอยสังเกต ว่าใครเบ่ง หมายหัวไว้ แต่ยังไม่ทำอะไร

เมื่อไปถึงที่พัก ก็จะให้น้องจัดของเข้าห้องพัก
แล้วอุปโลกย์หมอประจำท้องถิ่นขึ้นมาคนหนึ่ง เรียกประชุมเพื่อชี้แจงการดูแลสุขภาพตนเอง
ระหว่างนั้น รุ่นพี่คนอื่นก็จะเข้าไปขนอาหาร ขนมต่างๆ ไปซ่อน
น้องประชุมเสร็จแล้ว กลับมาก็ไม่เจออาหาร แต่สมบัติอย่างอื่น รุ่นพี่จะไม่แตะ ขนไปแต่อาหารเท่านั้น
(นับเป็นครั้งแรกของการรับน้อง)

หลังจากนั้นในเดือนแรก ก็จะปล่อยให้เป็นอิสระ ไม่มีการว๊าก
รุ่นพี่ยอมน้องทุกอย่าง ดูแลเป็นอย่างดี (ให้แสดงธาตุแท้ให้เต็มที่)
แต่ก็ยังสังเกตว่าใครที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะ เช่นมีเงินติดตัวเยอะแล้วมาอวดเบ่ง หรือใช้พี่เหมือนใช้ทาส

3 - ####คืนปล้นหอ####

รุ่นพี่ก็จะหายไปหมด ประมาณตีสามตีสี่ ยิงปืนนัดหนึ่ง
รุ่นพี่ทาหน้าดำหมด ทำเหมือนโจรปล้นหอ ส่งเสียงดัง
ต้อนน้องไปยังสนามฟุตบอล โดยบอกว่าจะพาไปไหว้ขอพรจากอาจารย์
ให้แต่งตัวให้ดี แล้วต้อนน้องไป
สองข้างทางก็จะมีรุ่นพี่คุมอยู่ตลอด ทำสีหน้าเคร่งเครียด ข่มขู่ (รูปแบบการว้าก ใช้เสียงดัง มาจากช่วงนี้)
ในที่สุดก็ไปลงสระน้ำ ทำการชำระความ อ่านธรรมนูญแม่โจ้ (ข้อตกลงในการอยู่ในสังคมนั้น)
รุ่นน้องที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ก็ให้โดดน้ำบนไม้กระโดด
รุ่นพี่ที่ทำอะไรไม่เหมาะก็โดนด้วยเช่นกัน
โทษหนักที่สุดก็คือตรึงไม้กางเขน จุดคบไฟ แห่รอบ แล้วเอาไปบูชายัญ
คือเอาไปปักไว้กลางสนามฟุตบอล แล้วก็มีการประจานกันเล็กน้อย
(รับน้องจริงๆมีเท่านี้ เพียงหนึ่งคืนเท่านั้น หลังจากนั้นก็เรียนหนังสือตามปกติ)

-4- ####SOTUS จากแม่โจ้ มาเกษตร####

สมัยนั้นแม่โจ้เป็นโรงเรียมเตรียมของมหาวิทยาลัยเกษตร
เมื่อจบจากแม่โจ้ ก็ถือว่าผ่านการรับน้องแล้ว มาอยู่เกษตรจึงไม่มีการรับน้องอีก
จนกระทั่งกระทรวงศึกษาแยกการบริหาร ตั้งเป็นมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
SOTUS จึงถ่ายทอดมาที่ยังเกษตร

- 5 - #### ว้าก กับ การร้องเพลงเชียร์ ####
จุดประสงค์หนึ่งก็คืออยากให้น้องร้องเพลงมหาวิทยาลัยได้
แต่ปัจจุบันมีการอ้างว่า เพลงของคณะ ของมหาวิทยาลัยมีมากขึ้น
จึงต้องใช้ระยะเวลายาวนานเป็นเดือน

จริงๆ แล้วเป็นคนละเรื่อง แต่นำมาปะปนกัน
ทั้งการลงโทษ ระเบียบเชียร์
ในอดีตมีการลงโทษ มหาวิทยาลัยเคยถูกฟ้อง
เพราะนิสิตบาดเจ็บ และพ่อของนิสิตเป็นทนายความ
(เหมือนสถานการณ์ในตอนนี้)

6 - #### เรื่องสื่อมวลชน ####
ช่วงสามสิบปีก่อน หนังสือพิมพ์แห่งหนึ่งได้ลงข่าววิจารณ์มหาวิทยาลัย
นิสิตไปเป่าแตรงอน วางพวงหรีดหน้าสำนักพิมพ์ กลายเป็นข่าวใหญ่
ภายหลังมีคนทำตามกันเยอะ (นี่อาจเป็นสาเหตุให้สื่อต่างๆจับจ้องเกษตรมากกว่าสถาบันอื่น)

7- #### คำถาม วัตถุประสงค์ของการรับน้องคืออะไร ####
ส่วนใหญ่จะตอบว่าให้รักกัน
สิ่งที่ต้องคำนึงคือ เมืองไทยเป็นเมืองพุทธ คนเราจะรักกันก็ด้วยความศรัทธา
ผู้ใหญ่ต้องปฏิบัติตัวเป็นตัวอย่างที่ดี
การกระทำเช่นรับน้องนี้ เปรียบเหมือน “ตบหัวแล้วลูบหลัง”
ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ยั่งยืน
ระยะหลังๆมีตัวอย่างจากในที่ทำงาน
จบเกษตร กินข้าวหม้อเดียวกัน ไปทำงานแล้วปัดแข้งปัดขา แย่งตำแหน่งกัน
สมาคมนิสิตเก่าฯ กี่ยุคกี่สมัย ก็แตกเป็นพวกเป็นเหล่า
แม้แต่อาจารย์ที่แม่โจ้สมัยนั้นเองก็ยังต้องแบ่งแยกชนชั้น
ต้องจบจากที่นั่นที่นี่ถึงจะเรียกเป็นอาจารย์ได้ ไม่เช่นนั้นเรียกว่าครู

ทุกอย่างไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ 100%
ในระยะหลังๆ รับน้องกลายเป็นเรื่องการเอาคืน ไม่เข้าใจกัน
ทุกอย่างเกิดจากกิเลสของคน ขาดธรรมะ ขาดสติ
ตอนนี้กลายเป็นเหมือนสิ่งเสพติด
จึงต้องมาพิจารณาศีลธรรมของตัวเอง
ต้องให้ผู้อื่นมอง
อย่าหักด้ามพร้าด้วยหัวเข่า
ต้องมองถึงอดีตว่ามาอย่างไร
ศรัทธาตัวเดียวแก้ได้ทุกอย่าง
ศรัทธาคือความสุข ขณะจิตว่าง ไม่ใช่ความงมงาย
เกิดขึ้นเอง ไม่ได้เกิดจากความอยาก

ว้าก ก่อให้เกิดความยำเกรง
แต่ยำเกรง ไม่ได้ก่อให้เกิดศรัทธา


สุดท้ายเป็นประเด็นฝากถึงแต่ละฝ่ายครับ

###ผู้บริหาร###
เมื่อเด็กมีปัญหา
ถ้าผู้ใหญ่ลงมาดูแล ลงมาคลุกคลีเอง เด็กจะเกิดความยำเกรง เป็นการแก้ทางจิตใจ
ไม่ใช่แก้ด้วยอำนาจ นั่งสั่งห้ามลงมา นี่เป็นสัจธรรมของการบริหาร

###อาจารย์###
อ้างถึงหนังสือ “อนิจจาการศึกษาไทย” โดย ศ.ดร.ระพี
เรื่องคำสั่งจากทบวงฯ เรื่องให้สอดแทรกศีลธรรมในการสอน
อาจารย์บางส่วนไม่เข้าใจ ก็ต่อต้าน บอกว่าแค่เนื้อหาวิชาปกติก็สอนไม่ทันแล้ว
ทั้งๆที่จริงแล้ว อยู่ที่การปฏิบัติตัวให้คนอื่นเห็น ไม่จำเป็นต้องอ้างภาษาบาลี
อาจารย์ต้องมีศีลธรรมเช่นกัน

###นิสิต###
สมัยนี้เรายึดติดกับวัตถุ ต้องใช้ Transcript มาล่อ
เป็นการบังคับ ไม่ได้มาจากใจ
(อ.ปัญญา) มหาวิทยาลัยบังคับให้นิสิตทำกิจกรรม แต่มีเสรีในการเลือกทำกิจกรรม
ถ้านิสิตมีความคิดใหม่ๆ อยากเริ่มทำกิจกรรมใหม่ๆ ก็เป็นสิ่งที่ควรส่งเสริม
กิจกรรมนิสิตเป็นหน้าที่ของอาจารย์ทุกท่าน ไม่ใช่เฉพาะอาจารย์ที่เป็นฝ่ายกิจการนิสิตเท่านั้น