วันจันทร์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2553

"SOTUS The Series" ภาค SOTUS ไม่ใช่พ่อ : ปฐมบทแห่ง SOTUS

....หลังจากที่ได้เกริ่นนำถึงจุดประสงค์ของการเขียนบทความแล้ว วันนี้เราจะมาพูดกันถึงความเป็นมาของระบบการรับน้องแบบ SOTUS กันนะครับว่ามีประวัติความเป็นมายังไง ทำไมมันถึงฝังลึกลงในระบบการศึกษาของไทยจนยากที่จะโค่นล้มมันออกไป

..... ระบบSOTUS ในประเทศไทยเริ่มต้นเมื่อมีการก่อตั้งวชิราวุธวิทยาลัยตามแบบโรงเรียนกินนอนในอังกฤษ เมื่อมีการตั้งโรงเรียนนายร้อยสำหรับฝึกทหารและตำรวจ เพื่อส่งคนไปปกครองตามหัวเมืองต่างๆ และดินแดนอดีตอาณานิคมของสยาม อย่างล้านนา อีสาน มลายูปัตตานี ที่ทั้งหมดเพิ่งถูกผนวกรวมเป็นส่วนหนึ่งของรัฐชาติสมัยใหม่หลัง ร.5 เป็นต้นมาเมื่อก่อตั้งโรงเรียนข้าราชการพลเรือนซึ่งต่อมากลายเป็นจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย ระบบอาวุโสถูกนำไปใช้ที่นั่น และหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีการตั้งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีการส่งคณาจารย์รุ่นแรกๆ ไปเรียนเกษตรที่ Cornell University สหรัฐอเมริกา กับ University of the Philippines ที่ฟิลิปปินส์

.....ระบบSOTUS จึงเริ่มที่มหาวิทยาลัยเกษตร และแพร่ขยายไปทั่วประเทศ ลามไปที่จุฬาด้วย ขณะที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก่อตั้งตามแบบมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และการเมือง (Ecole des Sciences et Politiques) ของฝรั่งเศสจึงไม่มีระบบนี้ โดยมหาวิทยาลัยในภาคพื้นยุโรป จะไม่มีการรับน้อง ไม่มีระบบอาวุโส หรือยึดติดกับสถาบันมากเท่า พวก อังกฤษและอเมริกา (Anglo-Saxon)


....จะเห็นได้ว่าระบบ SOTUS นั้นมีมายาวนานเกือยร้อยปีแล้วจึงทำให้มีผู้เทิดทูนระบบ SOTUS กันมากมายจนหลงลืมประเด็นสำคัญไปว่าระบบนี้ยังสามารถนำมาใช้ในยุคที่ประชาธิปไตยเฟื่องฟู ยุคที่เสรีภาพกำลังเบิกบาน ได้จริงหรือ ถ้าหากเรากลับมาหวนคิดสักนิดใช้เวลาแค่เพียงสักหน่อยก็จะได้พบกับความจริงที่เราตามหาคำตอบกันมายาวนานคือ "ไม่เหมาะนำมาใช้ในการรับน้องหรือปกครองน้อง"

.... คำตอบนี้คงไม่ถูกใจนักสำหรับคนที่เป็นพวกรุ่นพี่ที่ชื่อชอบระบบ SOTUS หรือ พวกวากเกอร์ เพราะถ้าหากมีการล้มล้างระบบพวกนี้ลงสิ่งที่พวกเขาโดนกระทำมาตอนเป็นรุ่นน้อง พวกเขาก็จะไม่ได้ทำการแค้นคิดแต่เพียงว่า "ถ้าโดนรับมายังไงก็ปล่อยไปแบบนั้น" ถ้าโดนมาหนักรุ่นน้องก็ซวยถ้าโดนมาเบารุ่นน้องก็โชคดีไป ชะตาชีวิตรุ่นน้องขึ้นอยู่กับรุ่นพี่

.... ดังนั้นถ้าหากรุ่นพี่ยึดหลักการปล่อยวางตามแนวพุทธศาสนายอมรับที่จะเก็บความรุนแรงที่ได้รับมาแต่ไม่นำมาใช้กับรุ่นน้อง และหันมาใช้กระบวนการคิดตามหลักพุทธศาสนาก็จะช่วยให้เกิดปัญญาพบกับแนวทางที่จะช่วยทำให้เกิดความสามัคคีในรุ่นน้องโดนไม่ต้องใช้ระบบ SOTUS หรือใช้ความรุนแรง

วันตา กราบไหว้ : Ris Niat

**บทความนี้ผู้เขียนเขียนขึ้นเพื่อต้องการให้ผู้อ่านหันมาคิดทบทวนระบบการรับน้องในมหาวิทยาลัย ไม่ได้มีเจตนาที่จะดูถูก กล่าวร้ายผู้ใด ถ้าหากคุณไม่สามารถที่จะรับความเห็นนี้ได้กรุณากดปิดเสีย หากผู้ใดนำบทความไปเผยแพร่กรุณาทำลิ้งกลับมายังบทความนี้ด้วย จักเป็นพระคุณอย่างสูง**

วันอาทิตย์ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2553

"SOTUS The Series" ภาค SOTUS ไม่ใช่พ่อ : เกริ่นนำ

SOTUS ถือเป็นระบบการปกครอง/การรับน้อง ที่มีมาอย่างยาวนานและทรงอิทธิพลมากที่สุดในรั้วมหาวิทยลัยอันเป็นแหล่งที่ใครๆต่างก็เชิดชูว่า "เป็นแหล่งที่สร้างและรวมปัญญาชน " ทำให้เกิดคำถามขึ้นว่า "จริงหรือที่มหาวิทยาลัยนั้นเป็นแหล่งสร้างและรวมปัญญาชน?"

ในมหาวิทยาลัยนั้นถ้าหากเป็นแหล่งรวมปัญญาชนจริงๆเชื่อว่าคนเหล่านั้นล้วนแล้วแต่ไม่อยากที่จะนำระบบ SOTUS มาใช้ในการปกครองน้องหรือรับน้องหรอก เพราะถ้ามีปัญญาชนจริงๆ เขาคงคิดหาวิธีการรับน้องที่มีความเหมาะสมมากกว่านี้ได้ ไม่ต้องให้เกิดปัญหาการรับน้องที่มีแต่ความรุนแรง ความเกลียดชัง ความเลวร้าย เหมือที่ท่านผู้อ่านเคยพบเห็นในข่าวหน้าหนังสือพิมพ์ ช่วงที่มีการรับน้อง ทุกๆปีเราจะเห็นข่าวการเสียชีวิต การบาดเจ็บของรุ่นน้องปี 1 ทุกปีปีละ2-3 รายแต่ในความเป็นจริงแล้วการบาดเจ็บหรือเสียชวิตน่าจะมีมากกว่านั้นเพียงแต่ว่าทางสถาบันนั้นได้มีการปิดข่าวไมม่ให้รั่วไหลต่างหาก เพื่อไม่ให้เกิดชื่อเสียขึ้นต่อมหาวิทยาลัยหรือคณะของตน

ดังนั้นเพื่อไม่ต้องให้มีใครต้องมาบาดเจ็บทั้งทางร่างกายและทางจิตใจ หรือไม่ต้องให้มีผู้สังเวยชีวิตให้กับการรับน้องที่ป่าเถื่อน ถึงเวลาแล้วที่ควรมีการกลับมาวิเคราะห์วิจารณ์ว่าระบบนียังสามารถใช้ได้ดีในสังคมปัจจุบันนี้หรือไม่ หรือมาร่วมคิดกันว่าถึงเวลาแล้วหรือยังที่ควรจะหยุดยั้งระบบนี้เสียที


วันตากราบไหว้ : Ris Niat

**บทความนี้ผู้เขียนเขียนขึ้นเพื่อต้องการให้ผู้อ่านหันมาคิดทบทวนระบบการรับน้องในมหาวิทยาลัย ไม่ได้มีเจตนาที่จะดูถูก กล่าวร้ายผู้ใด ถ้าหากคุณไม่สามารถที่จะรับความเห็นนี้ได้กรุณากดปิดเสีย หากผู้ใดนำบทความไปเผยแพร่กรุณาทำลิ้งกลับมายังบทความนี้ด้วย จักเป็นพระคุณอย่างสูง**

วันอังคารที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2553

คลิป2

คลิปรับน้องครับ

วันพฤหัสบดีที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

รับน้องปลอดเหล้าปี"53 เน้นพี่น้องปรองดองสร้างสรรค์


โครงการรับน้องปลอดเหล้ายังคงเดินหน้าต่อไปในปีการศึกษานี้

โดยกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และแผนงานทุนอุปถัมภ์ เพื่อสนับสนุนกิจกรรมปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานศึกษา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริม สุขภาพ (สสส.) เพิ่งร่วมกันจัดสัมมนาความร่วมมือการจัดกิจกรรมรับน้องสถาบันอุดม ศึกษาทั่วประเทศ ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม (มจษ.) มี นายไชยยศ จิรเมธากร รมช. ศึกษาธิการ ท.พ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการสสส. ผศ.ดร.สุชาติ ทวีพรปฐมกุล ผู้จัดการแผนงานทุนอุปถัมภ์ สสส. นายสุชาติ เมืองแก้ว อธิการบดี มจษ. และนักศึกษา กว่า 100 คน เข้าร่วมกิจกรรม




พี่น้องปรองดองสร้างสรรค์

จากการบรรยายแนวคิดของแผนงานฯ ต่อการสนับสนุนโครงการรับน้องในสถาน ศึกษา และบรรยายในหัวข้อ "พลังพี่น้อง ปรองดอง สร้างสรรค์ สร้างไทย" รวมทั้งเปิดเวทีระดมความคิดเห็นกิจกรรมรับน้องปลอดเหล้าและสร้างสรรค์

ท.พ.กฤษดา กล่าวว่า โครงการรับน้องปลอดเหล้า ประจำปีการศึกษา 2553 สสส. ได้เน้นจัดกิจกรรมภายใต้สโลแกน "พลังพี่น้อง ปรองดอง สร้างสรรค์ สร้างไทย" เน้นปลูกฝังความรัก ความสามัคคีช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นนโยบายที่ สสส. ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ขณะเดียวกันก็ยังสอดรับนโยบายภาครัฐที่มุ่งเน้นสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นกับคนในชาติ

โดยการจัดกิจกรรมครั้งนี้ ได้มีการสร้างเครือข่ายของนิสิต นักศึกษา จากสถาบันการศึกษา 11 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยนเรศวร พิษณุโลก มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขต หาด ใหญ่ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ มหา วิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม และมหาวิทยาลัย ราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา จัดตั้งเป็น U-Network เพื่อร่วมทำงานด้วยกัน เป็นที่ปรึกษาและพี่เลี้ยงให้แก่สถาบันการศึกษาอื่น เพราะถือว่าเป็นการสร้างเครือข่ายให้นักศึกษาได้ทำกิจกรรมร่วมกันเพื่อผลักดันให้ เกิดชมรมสร้างเสริมสุขภาพภายในสถานศึกษา

อย่างไรก็ตาม เรื่องการรับน้องปลอดเหล้า สสส.ให้ความสำคัญมาแล้วกว่า 6 ปี ในปีนี้มีสถาบันอุดมศึกษาทั้งรัฐและเอกชน เข้าร่วมโครงการแล้วเกิน 50% ของประเทศ คือจำนวน 120 สถาบันจาก 200 สถาบัน ซึ่งเฉพาะในปี 2553 สสส.ได้ทำงานร่วมกับ 98 สถาบันการศึกษา ซึ่งแต่ละปีจะมีนักศึกษาทั้งใหม่และเก่า รวมถึงอาจารย์ เข้าร่วมการรณรงค์ปีละกว่าแสนคน

1.พัฒนพล ศรีน้อย
2.เอกชัย อยู่สวัสดิ์
3.ณัฐพล ศรีบุญเรือง
4.เบญจภา รัตนศรีประเสริฐ
5.ปฐมรัตน์ และ เพื่อน




ศธ.ห่วงร้านเหล้าหน้ามหา"ลัย

ด้าน นายไชยยศ กล่าวว่า ได้มอบให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ประสานกับสถาบันอุดมศึกษาทุกแห่ง ออกระเบียบ มาตรการควบคุมการจัดกิจกรรมรับน้องปีนี้ โดยขอให้มุ่งเน้นการสร้างความปรองดองในสังคม โดยเฉพาะการจัดกิจกรรมต่างๆ ต้องเป็นไปในแนว ทางการเสริมสร้างความสมานฉันท์และความสามัคคี ต้องปราศจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสิ่งเสพติด 100%

นายไชยยศ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังได้เร่งให้ประสานเรื่องการเข้าไปดูแล กวด ขันเรื่องการเปิดร้านเหล้าใกล้สถานศึกษากับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่ามีร้านทำผิดกฎหมายหรือไม่ รวมถึงเข้าไปตรวจสอบว่ามีช่องโหว่ใดที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาที่อายุต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนดซื้อเหล้าดื่มโดยจะต้องมีการสำรวจร้านค้าบริเวณใกล้สถาบันต่างๆ อย่างจริงจัง อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ เป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบกับผลประโยชน์จำนวนมาก การเข้าไปจัดการให้ได้ผลเป็นเรื่องต้องใช้เวลาและความร่วมมือจากทุกฝ่าย

"มาตรการจะเป็นเพียงหลักการเท่านั้น หากไม่ได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะนักศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษาทุกแห่ง ต้องมีบทบาทสำคัญควบคุมดูแลให้อาจารย์ที่ปรึกษา ทุกคนมีส่วนร่วมให้ความรู้ สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องถึงเจตนารมณ์สำคัญของกิจกรรมรับน้อง ดังนั้น ในการจัดกิจกรรมใดๆ ที่เกินเลยความเหมาะสมก็ไม่ควรทำและนักศึกษามีสิทธิ์ตัดสินใจจะเข้าร่วมกิจกรรมแบบสมัครใจด้วย สถาบันการศึกษาจะต้องมีศูนย์ที่จะรับแจ้งเหตุ เพื่อรับข้อมูลกิจกรรมต่างๆ ทั้งนี้หากพบเห็นการจัดกิจกรรมรับน้องที่ไม่เหมาะสมสามารถแจ้งได้ที่ สายด่วนหมายเลข 0-2610-5416-17" รมช.ศึกษา ธิการ กล่าว



เสียงสะท้อนจากน.ศ.

คราวนี้มาฟังเสียงของนักศึกษากันบ้าง

เริ่มที่ นายณัฐพล ศรีบุญเรือง นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า สิ่งที่อยากเห็นในงานรับน้องของทุกมหาวิทยาลัยคืออยากให้มีการรับน้องอย่างสร้างสรรค์ ที่ผ่านมาเราอาจจะเคยชินกับการรับน้องที่รุนแรง ดังนั้น การรับน้องครั้งนี้หากเราได้ร่วมกันเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับการรับน้องให้เป็นการรับน้องที่เติมเต็มในเรื่องของจิตวิญญาณและอุดมการณ์แห่งความเป็นปัญญาชน ที่มองเห็นปัญหาของสังคมมากกว่ามองเห็นปัญหาของตัวเอง

นายพัฒนพล ศรีน้อย นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะนิเทศศาสตร์มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ กล่าวว่า อยากให้งานรับน้องที่กำลังจะเกิดขึ้นของทุกมหาวิทยาลัย เป็นงานรับน้องที่เต็มไปด้วยจิตสำนึกแห่งความดีงาม และเป็นจิตสำนึกแห่งการให้ และไม่อยากให้งานรับน้องต้องใช้เหล้าเป็นประเด็นหลักในการเข้าหาน้อง อยากจะให้ทุกๆ มหาวิทยาลัยยึดหลักของการรับน้องปลอดเหล้าเป็นประเด็นหลักในการเข้าถึงน้อง เพราะเมื่อไม่มีเหล้าสติก็จะเกิดสิ่งที่ดีงามในการเป็นนักศึกษาที่ดีก็จะตามมา และความรักระหว่างพี่กับน้องก็จะเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริงโดยไม่ต้องมีเหล้าเข้ามาเกี่ยว

นายปฐมรัตน์ โพธิ์รักษา กล่าวว่า ไม่ว่างานรับน้องหรืองานอะไรที่เกี่ยวกับชีวิตของนักศึกษาในหลายๆ มหาวิทยาลัย ไม่ควรที่จะมีการนำสุรา อาทิ เหล้า เบียร์ เป็นต้น เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง เพราะตัวอย่างก็มีให้เห็นกันมากมาย เมื่อเหล้าหรือเบียร์เข้าปากไปแล้วเป็นอย่างไร

และสิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะลืมไม่ได้คือปัจจุบันนี้สถานศึกษาหลายแห่งมีร้านขายเหล้าขายเบียร์เปิดขนาบข้างอยู่เต็มไปหมด ดังนั้น จึงอยากให้มีการเข้มงวดกวดขันในเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะเมื่อมีแหล่งอโคจรในการนัดพบ พี่ชวนรุ่นน้องไปรุ่นน้องก็ต้องไป แต่เมื่อสถานที่ขายเหล้าขายเบียร์เหล่านี้เข้าถึงยาก ก็จะลดความเสี่ยงในเรื่องนี้ไปด้วย พวกเราก็เลยอยากให้มีการกวดขันร้านเหล้าร้านเบียร์ที่อยู่ใกล้กับสถานศึกษาไม่ให้มีอีกต่อไป



ยังห่วงรับน้องโหด

นายเอกชัย อยู่สวัสดิ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ โปร แกรมรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา กล่าวว่า เรื่องของการดื่มเหล้าดื่มเบียร์ในงานรับน้องนั้น มองว่ามันเป็นสาเหตุที่นำไปสู่ความรุนแรง กินทุกครั้งเกิดความรุนแรงทุกครั้ง โดยจะเห็นจากข่าว รุ่นพี่รับน้องโหดทุกครั้ง ดังนั้น สิ่งที่จะต้องรณรงค์ควบคู่ไปกับงานรับน้องปลอดเหล้าด้วย คือการรณรงค์ไม่ให้รุ่นพี่ใช้ความรุนแรงกับน้องด้วย หลายคนยังยึดติดกับค่านิยมที่ยิ่งรับน้องรุนแรงก็จะยิ่งรักกันมากขึ้นนั้น ควรจะเปลี่ยนความคิดเสียใหม่ เพราะเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนไม่ชอบใช้ความรุนแรงและไม่ควรเริ่มความรักความสัมพันธ์ด้วยความรุนแรง ไม่รุนแรง ไม่ชวนน้องดื่มเหล้า ดื่มเบียร์ ซึ่งตนเชื่อว่าปัญหาอีกหลายอย่างก็จะหมดไป

น.ส.เบญจภา รัตนศรีประเสริฐ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะเทคโนโลยีมีเดีย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า เรื่องที่น่าจะเร่งรณรงค์เป็นอันดับแรกในการรับน้องที่จะเกิดขึ้นในหลายๆ มหา วิทยาลัยคือ การเร่งสร้างในเรื่องคุณธรรมและจริยธรรม คำสองคำนี้ถือว่ามีความหมายอย่างมากสำหรับนักศึกษาในยุคปัจจุบัน เพราะปัญหาในสังคมหลายอย่างเกิดขึ้นเพราะคนหลายคนที่มีอำนาจในสังคมขาดความตระหนักอย่างแท้จริง ซึ่งหากนักศึกษาที่เป็นวัยเริ่มต้นของชีวิตหนุ่มสาวตระหนักและเข้าถึงคุณธรรมและจริยธรรมก็จะนำพาไปสู่สังคมที่ดีงามได้ และเมื่อนักศึกษามีคุณธรรมและจริยธรรมอย่างแท้จริงการชักชวนกันไปดื่มเหล้าในงานรับน้องก็จะไม่มีเกิดขึ้น

เป็นอีกความห่วงใยที่มีต่อการรับน้อง



ปฏิญญารับน้อง

เครือข่ายของนิสิต นักศึกษา จากสถาบันการศึกษา 11 แห่ง สสส.และ ศธ. ได้ร่วมกันสร้างปฏิญญา 5 ข้อ เพื่อนำไปสู่แนวทางการดำเนินกิจกรรมนักศึกษาที่เข้มแข็งในอนาคต และมอบให้กับนายไชยยศ จิรเมธากร รมช.ศึกษาธิการ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้ 1. เครือข่ายสถาบันอุดมศึกษา จะดำเนินการจัดกิจกรรมภายใต้นโยบาย กฎระเบียบ และข้อบังคับของสถาบันการศึกษา และกระทรวงศึกษาธิการอย่างเคร่งครัด 2. เครือข่ายสถาบันอุดมศึกษา โดยการดำเนินงานขององค์การ สโมสร นิสิตนักศึกษา จะจัดกิจกรรมอย่างสร้างสรรค์ โดยดำรงไว้ซึ่งการรักษาขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรมไทย และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

3. เครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาจะมุ่งเน้นกิจกรรมสร้างสามัคคีปรองดอง โดยจะเคารพซึ่งสิทธิเสรีภาพความเป็นมนุษย์ 4. เครือข่ายสถาบันอุดมศึกษา จะมุ่งเน้นการดำเนินกิจกรรมในการพัฒนาชุมชน และสังคม ซึ่งจะรวมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศ 5. สถาบันอุดมศึกษา จะร่วมกันก่อตั้งเครือข่ายผู้นำนิสิต นักศึกษา สถาบันระดับอุดม ศึกษาทั่วประเทศ ในการพัฒนานโยบายการดำเนินงานด้านกิจกรรมนักศึกษาร่วมกัน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไทย

วันอังคารที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

แนะนำหนังสือน่าอ่านครับ

ชื่อหนังสือ :ว้ากน้อง การสร้างและสืบทอดระบบเผด็จการในมหาวิทยาลัย
โดย :ธเนศวร์ เจริญเมือง

มี 3 ฉบับนะครับ ฉบับที่ 1 เขียนเมื่อปี 2535 ฉบับที่ 2 เขียนเมื่อปี 2543 ฉบับที่ 3 เขียนเมื่อปี 2548 ถ้ามีเวลานะครับอยากให้อ่านเรียงกันตั้งแต่เล่ม 1-3 แต่ถ้าไม่มีเวลาหาเล่ม 3 มาอ่านอย่างเดียวเลยครับเพราะอาจารย์แกรวมเล่มแบบสรุปเล่ม 1-2 ไว้ที่เล่ม 3 หมดแล้ว


ตัวอย่างบทความในหนังสือครับ

" คำกล่าวที่ว่านักเรียนมัธยม และนักศึกษาปี 1 ไม่หวงแหนสิทธิเสรีภาพของตนเอง จึงเป็นข้อเท็จจริงที่สะท้อนให้เห็นพื้นฐานความเป็นมาของเยาวชนไทย ขณะเดียวกันกรณีนักศึกษามหาวิทยาลัยปี 2 - ปี 4 ทำตัวเป็นจอมเผด็จการ ผูกขาดอำนาจ สถาปนาตนเองเป็นรุ่นพี่ ทั้งๆ ที่อายุห่างกันเพียงไม่กี่เดือนหรือเพียง 1-2 ปี และใช้อำนาจเผด็จการเถื่อน กดขี่ข่มเหง ข่มขู่ และบีบบังคับลงโทษรุ่นน้องที่ด้อยกว่าในทุกๆ ด้าน ก็สามารถอธิบายพื้นฐานความเป็นมาของพฤติกรรมเหล่านั้นได้ในทำนองเดียวกัน
พื้นฐานความเป็นมาดังกล่าวก็คือ

ข้อแรก การดำรงอยู่ของความคิดที่ไม่ให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมกิจกรรมทางสติปัญญา เน้นหนักในเรื่องของความสนุกสนาน ฉะนั้นกิจกรรมต่างๆ จึงมุ่งไปที่การร้องเพลง การเชียร์กีฬา การกินเลี้ยง จัดงานรื่นเริง ฯลฯ

ข้อสอง การดำรงอยู่ของความคิดแบบศักดินา คือ ความรักของรุ่นพี่เป็นความรักที่มีเงื่อนไขหวังผลตอบแทน ไม่ใช่ความรักแบบ "พี่มีแต่ให้" กล่าวคือ ที่พี่รักน้อง อุตส่าห์ไปรับน้องมาโดยรถไฟ อุตส่าห์จัดงานให้น้อง อุตส่าห์สอนน้องให้ร้องเพลงเชียร์ได้ รู้วิธีไปลงทะเบียนวิชาต่างๆ ได้ อุตส่าห์แหกปากตะโกนว้ากน้อง ดุด่าน้อง สั่งลงโทษน้องตอนดึกๆ อุตส่าห์จัดประชุมเชียร์จนดึกทุกวัน ฯลฯ ก็เพราะ พี่อยากให้น้องรักกันรู้จักกัน สามัคคีกัน ช่วยเหลือกัน โดยที่น้องจะต้องเชื่อฟังพี่ พี่สั่งอะไรน้องต้องทำตาม อย่าดื้อ อย่าเถียง อย่าคัดค้าน ฯลฯ เพราะความคิดเห็นที่แตกต่างจะไม่ก่อให้เกิดความสามัคคี แต่จะก่อให้เกิดความแตกแยกขัดแย้งในสังคม

นี่เป็นความคิดแบบศักดินาประเภทคลาสสิค เพราะ พี่เห็นว่าน้องยังเด็ก ยังไม่รู้อะไร ต้องให้พี่ช่วยเหลือดูแลทุกสิ่งทุกอย่าง พี่จึงไม่ได้มองน้องว่าเป็นคนเท่าเทียมกัน มีสิทธิเสรีภาพที่จะเลือกทำอะไรก็ได้ พี่เห็นว่าน้องต้องไม่โต้เถียงพี่ กิจกรรมต่างๆ พี่เท่านั้นเป็นคนกำหนด น้องไม่มีสิทธิเลือก ไม่มีสิทธิออกความเห็น ไม่มีสิทธิปฏิเสธ ถ้าน้องทำผิดหรือทำไม่ถูกใจพี่ พี่มีสิทธิลงโทษน้องได้ทุกอย่าง และถ้าน้องยอมทำตามทุกอย่างที่พี่บอก พี่ก็จะดูแลน้องต่อไป ให้ความรักต่อน้อง ในอนาคตพี่ก็จะไม่ทอดทิ้งน้อง (ช่วยหางานให้ ใช้เส้นสาย ใช้ระบบพรรคพวก) แต่ถ้าน้องดื้อรั้น ไม่ยอมเชื่อฟังพี่ พี่ก็จะตัดน้องออกจากกลุ่ม จะไม่ดูแลและนับถือกันเป็นพี่เป็นน้องอีกต่อไป

โปรดสังเกตว่าความคิดเหล่านี้ มีพื้นฐานมาจากระบบการอบรมเลี้ยงดูและระบบการศึกษาที่ดำรงอยู่ในสังคมไทยนั่นเอง

สรุปว่า ถ้าเราจะตำหนินักศึกษาปี 1 ซึ่งเป็นน้องใหม่ว่า ทำไมไม่คัดค้าน ทำไมไม่หวงแหนสิทธิเสรีภาพของตัวเอง ทำไมไปยอมให้รุ่นพี่โขกสับจนดึกดื่นทุกวัน เราก็ควรตั้งคำถามต่อนักศึกษาปี 2 - ปี 4 (กระทั่งบัณฑิตหลายคนที่แม้จะจบไปแล้ว ก็ยังมาช่วยดูแลควบคุมการว้ากน้อง) ว่าทำไมจะต้องไปข่มเหงรังแกรุ่นน้องเช่นนั้น ทำไมเรียนหนังสือมากกว่าใครๆ ในสังคม แต่จิตใจยังชอบเผด็จการ ชอบบีบบังคับลงโทษคนอื่นๆ เช่นนี้

พฤติกรรมที่นักศึกษาปี 2 - ปี 4 นิยมใช้อำนาจบีบบังคับ ข่มขู่และลงโทษนักศึกษาที่เข้าใหม่ สะท้อนให้เห็นสภาพที่เป็นจริงทางการเมืองการปกครองในสังคมไทยระดับชาติได้เป็นอย่างดี ระบบการปกครองของไทยที่ผ่านมามีลักษณะค่อนไปทางเผด็จการ 60 ปีที่ผ่านมาของระบอบประชาธิปไตยพัฒนาอย่างลุ่มๆ ดอนๆ พรรคการเมืองล้มลุกคลุกคลาน ทหารแทรกแซงการเมืองด้วยการก่อรัฐประหารถึง 10 กว่าครั้ง มีการยุบรัฐสภาเกือบ 10 ครั้ง และฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งถึง 10 กว่าฉบับ นายกฯ ที่มีจากทหารครองอำนาจรวมเวลาถึง 44 ปี ในช่วง 60 ปี อำนาจทางการเมืองจึงอยู่ในมือคนส่วนน้อยที่พยายามรวบอำนาจไว้เป็นของตนเอง ระบบราชการใหญ่โตมาก การรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลางมีมาก ท้องถิ่นมีอำนาจของตัวเองน้อย มีการใช้สิทธิใช้เสียงแบบประชาธิปไตยที่จำกัดในระดับโรงเรียนครอบครัวและสังคม"

ในหนังสือมีอีกเยอะครับมีการเขียนเล่าประสบการการรับน้องของคณะต่างๆในมหาวิทยาลัยในภาคเหนือด้วยครับ สนใจหาอ่านหรือหาซื้อได้ครับ ลองค้นดูในกูเกิล

วิพากษ์ว้าก:บทวิพากษ์แห่งการรับน้องประชุมเชียร์โซตัส(SOTUS)(สรุป)

สรุป

จากที่ท่านได้อ่านเรื่องราวทั้งหมดของ “วิพากษ์ว้าก” เล่มนี้แล้ว ก็เป็นข้อคิดและข้อเสนอของผมที่ต้องการให้คนในสังคมทุกคนที่มีความเกี่ยวข้องกับกิจกรรมรับน้องในประเทศไทยได้นำไปฉุกคิดและปฏิบัติ ซึ่งคิดว่าได้เสนอไว้ชัดเจนแล้ว สรุปกันอย่างสั้นที่สุดว่า “ต้องยุติการว้ากและความรุนแรงทุกรูปแบบในกิจกรรมรับน้องทุกประเภท นำศีลธรรม ความสงบ สันติวิธีเข้ามาใช้”

แม้ว่าหนังสือที่เกี่ยวข้องกับการรับน้องประชุมเชียร์นั้นหายากหรือไม่มีเลยก็เป็นได้ แต่บนเว็บไซต์นั้นมีบทความที่เกี่ยวข้องกับการรับน้องประชุมเชียร์มากมาย รวมทั้งความคิดเห็นของผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ซึ่งส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยที่เข้ามาระบายวิพากษ์วิจารณ์ได้อย่างน่าสนใจทีเดียว ดังนั้นการวิพากษ์วิจารณ์การว้ากนั้นไม่ใช่ความคิดเห็นของผมเพียงคนเดียว แต่มีผู้วิพากษ์วิจารณ์บนเว็บไซต์ไว้แล้วมากมาย แต่ไม่ได้มีการนำไปคิดวิเคราะห์ปฏิบัติในวงกว้างเท่าที่ควรนัก คงเป็นเพราะเสียงส่วนมากของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการรับน้องยังคงเลือกที่จะ “เห็นด้วย” กับการว้ากอยู่ และยังไม่ทันได้ฉุกคิดถึงข้อเสียที่มีมากมายในการว้ากนี้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบสังคมในวงกว้าง โดยเป็นการสนับสนุนความรุนแรง ระบบอุปถัมภ์ เผด็จการ แบ่งชนชั้นที่ล้วนแต่เป็นต้นเหตุของความไม่ยุติธรรม ซึ่งเรียกโดยรวมว่า “อำนาจนิยม” ผลก็คือประเทศไทยของเรายังไม่เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วเสียทีไงล่ะครับ

สุดท้ายนี้ ผมหวังว่าท่านผู้อ่านจะเปิดใจและคิดถึงปัญหาในการรับน้องที่ควรนำไปปฏิบัติเพื่อปฏิรูปการรับน้องให้ดีขึ้นเป็นลำดับไป ผมเชื่อว่าท่านทั้งหลายมีความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และเคารพสิทธิเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ถ้าท่านมีสิ่งเหล่านี้ ท่านย่อมเห็นว่าการรับน้องของเรานั้นมีปัญหาที่ต้องแก้ไขกันจริงๆ ขอให้ท่านทั้งหลายที่นำแนวคิดปฏิรูปการรับน้องไปปฏิบัติประสบความสำเร็จ และให้ความสำเร็จนี้ขยายจนครบทุกหนทุกแห่งในประเทศไทย เพื่อความเจริญก้าวหน้าของชาติ เพื่อสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคของปวงชนชาวไทยอย่างแท้จริง เพื่อวัฒนธรรมใหม่ที่ดีงามของชาติไทยในฐานะ “สยามเมืองยิ้ม” กลับคืนมา ขอสันติจงมีแก่ทุกท่าน...

คนเก๋าแห่งแผ่นดิน