วันอังคารที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2552

ระบบโรงเรียน กับวัฒนธรรมแห่งอำนาจ

บทนำ
การศึกษา ตามความหมายในอุดมคติ คือกระบวนการที่จะสร้างคนให้เติบโตขึ้นมาอย่างมีคุณภาพ มีความรู้ที่จะพัฒนาตนเองและสังคม สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข
วัฒนธรรม มีความหมายตรงตัวคือ ธรรมชาติที่เจริญงอกงาม วัฒนธรรมจึงไม่ใช่ของสำเร็จรูป หากแต่เป็นสิ่งที่ค่อยๆ เพาะตัวขึ้นมาอย่างช้าๆ ควบคู่ไปกับสังคม และเราต้องไม่ลืมว่าคนนั่นเองเป็นผู้ทำให้เกิดวัฒนธรรมขึ้น
ทุกวันนี้ โลกและสังคมมีแต่จะยิ่งทวีความซับซ้อน ปัญหาที่มนุษย์ต้องเผชิญ ย่อมมากขึ้นกว่าแต่ก่อนอย่างเปรียบเทียบกันไม่ได้ เช่นเดียวกันกับวัฒนธรรมไทยของเรา ก็ต้องเผชิญกับกระแสวัฒนธรรมต่างๆ ที่เคลื่อนไหวไปทั่วโลกอย่างไร้การควบคุม นอกจากนี้ยังต้องเผชิญหน้ากับการท้าทายครั้งยิ่งใหญ่ที่สุด คือ การตั้งคำถามจากความเป็นมนุษย์ ซึ่งได้มีการวิวัฒนาการมายาวนาน จนพ้นจากยุคที่สิ่งใดๆ จะสามารถได้รับการยอมรับจากผู้คนโดยใช้เพียงแค่ศรัทธาความเชื่ออันมืดบอดอีก ต่อไปแล้ว ... ในที่นี้ เราจะพูดถึงแนวคิดหลักเพียงบางเรื่อง ที่นับได้ว่าเป็นแก่น เป็นเสาหลักของวัฒนธรรมไทย และเกี่ยวข้องกับระบบการศึกษาโดยตรง

ระบบอาวุโส
การ เคารพนับถือผู้อาวุโสในสังคมไทย ในสภาพที่เป็นอยู่นี้ ดูแล้วน่าจะเป็นการทำช่องว่างระหว่างวัยให้กลายเป็นความขัดแย้ง มากกว่าที่จะทำให้มีการเคารพและเข้าใจกันโดยแท้จริง ยิ่งไปกว่านั้น ... มันยังจัดเป็นเงื่อนไขสำคัญที่สุด ที่จะทำให้กระบวนการครอบงำครบวงจรได้อย่างสมบูรณ์และสร้างเสถียรภาพอันมั่นคงให้แก่ระบบได้ เพราะผู้ใหญ่นั้นมีประสบการณ์และอาจจะมีความรู้สูงกว่าก็จริง แต่ก็มีพลังงานและความสามารถในการเปลี่ยนแปลงน้อยกว่า ส่วนความคิดของเด็กยังอ่อนตัวอยู่ จิตใจยังรับความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ได้ง่าย ... ด้วยเหตุนี้ จึงต้องมีความพยายามตีกรอบจำกัดทั้งความคิดและการกระทำให้อยู่ในพื้นที่แคบๆ โดยบอกว่า "เด็กมีหน้าที่เรียน ก็ควรจะไปคิดเรื่องเรียน" "เดินตามผู้ใหญ่ หมาไม่กัด" ฯลฯ เป็นการป้องกันทุกวิถีทาง ไม่ให้ความคิดของพวกเขามีโอกาสมาสัมผัส และสร้างความกระทบกระเทือนให้กับระบบ หรือรับปัจจัยที่กระตุ้นการเปลี่ยนแปลงจากภายนอกได้ ... จนเมื่อพวกเขาผ่านขั้นตอนการศึกษาทั้งหมด และกลายเป็น "ผู้ใหญ่" นั่น คือ เมื่อพวกเขาได้ถูกกลืนกินจนเป็นส่วนหนึ่งของระบบ ไม่อาจคิดและทำในสิ่งที่แตกต่างไปจากคนรุ่นก่อนๆ ได้อีก เมื่อนั้น พวกเขาจะถูกเคลื่อนย้ายเข้าสู่โลกของผู้ใหญ่ ที่ซึ่งพวกเขาได้รับการถ่ายโอนอำนาจอภิสิทธิ์ เพื่อใช้ในการควบคุมเด็กรุ่นหลัง ให้เป็นเหมือนกับพวกเขาอีกเรื่อยไป ... พวก เขาจึงยินดีจะยอมจำนนต่อระบบ พวกเขาจะไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงสิ่งใดๆ เพราะบัดนี้พวกเขาได้กลายมาเป็นฝ่ายได้ประโยชน์และมีสิทธิ์อยู่เหนือกว่า แล้ว พวกเขาจะยึดถือว่าทุกคนที่มาทีหลังจะต้องเชื่อฟัง ตนเองอาบน้ำร้อนมาก่อน คิด ทำอะไรก็ถูกต้องทุกอย่าง เด็กไม่มีสิทธิ์โต้เถียง ไม่เช่นนั้นจะถือว่าไม่มีสัมมาคารวะ หัวแข็ง ... พวกเขาจะดูถูกคนรุ่นต่อไปว่า มีแต่ความเหลวแหลก หาสาระอะไรไม่ได้ .... แต่ในขณะเดียวกัน สิ่งที่พวกเขาได้รับการปลูกฝังหรือตั้งโปรแกรมมาในจิตใจส่วนลึก ให้กลัวมากที่สุด ... คือเด็กที่มี "สาระ" และ มีความคิดเป็นของตัวเอง ซึ่งนับแต่จะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกวันๆ ภายใต้การเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงทางสังคม ที่พวกเขาพยายามปิดหูปิดตาไม่ยอมรับรู้นั่นเอง

สถาบัน
ศักดิ์ศรีและเอกลักษณ์ของสถาบัน ไม่ใช่สิ่งที่เลวร้ายแต่อย่างใด แต่สภาพที่เราเห็นจนชินตานั้น กลับดูเหมือนว่า ... ความเป็นสถาบัน จะถูกผูกขาดให้เป็นของครูอาจารย์เท่านั้น หรือว่านักเรียนซึ่งเป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ในโรงเรียน ไม่มีส่วนร่วมในสถาบันมากไปกว่าการยอมรับมาตรฐาน แนวทางและกฎเกณฑ์ต่างๆที่ถูกกำหนดมาจากเบื้องบน แล้วก็บอกว่านี่คือโรงเรียนของเรา เราต้องมีความภาคภูมิใจ เราต้องรักษาชื่อเสียงของโรงเรียนด้วยการคิดแบบนั้น เป็นอย่างนี้ ทำสิ่งต่างๆ ที่สมมุติขึ้นมาเหล่านี้ คนที่ไม่เห็นด้วย ไม่ใช่พวกของเรา สมควรจะออกไปอยู่ที่อื่น งั้นหรือ?
คนไทยได้ถูก ความเชื่อที่ยึดติดกับสถาบันฝังหัวมานานแสนนาน ไม่น่าแปลกใจที่เราจะเห็นภาพของเด็กที่ไล่ตีไล่ฆ่ากันทั้งที่ไม่เคยรู้จัก หรือมีความแค้นอะไรกันเลยแม้แต่นิดเดียว แต่นั่นก็เป็นเพียงตัวอย่างส่วนเสี้ยวเล็กๆ เท่านั้น ... "ความบ้าสถาบัน" ยังคงแสดงออกให้เห็นในรูปแบบหลากหลายในคนทุกระดับชั้น ตั้งแต่ปัญญาชน ข้าราชการ นักวิชาการ จนไปถึงรัฐมนตรี ... เมื่อเร็วๆ นี้เอง ได้มีเด็กมัธยมคนหนึ่งเล่นอยู่ใน webboard ที่เป็นที่นิยมมากที่สุดของไทย โดยใช้ชื่อ "ว่าที่........." ซึ่ง เป็นชื่อที่แสดงถึงสถาบันแห่งหนึ่งที่เธอมีความตั้งใจที่จะเข้า แสดงความคิดเห็นต่างๆ อย่างที่ปัญญาชนทั่วไปพึงกระทำได้ และมีความคิดก้าวหน้ากว่าผู้ใหญ่หลายๆ คนเสียด้วยซ้ำ ต่อมาได้มีผู้อ้างตัวว่าเป็นรุ่นพี่ในสถาบันนี้ ออกมาตั้งกระทู้โจมตีและบอกให้เธอเลิกใช้ชื่อดังกล่าว เขาอ้างว่าการกระทำเช่นนี้ทำให้เสื่อมเสีย เพียงเพราะความคิดแตกต่างกัน และเขาถือว่าแนวทางของตัวเขาเท่านั้น คือความถูกต้องตามมาตรฐานของสถาบันที่เอ่ยถึง ...
เหตุการณ์นี้ทำให้เราต้องกลับมาคิดทบทวนอย่างหนักอีกครั้งในเรื่องเกี่ยวกับสถาบัน ... คิดเชื่อมโยงไปถึงเรื่องเครื่องแบบ ความเป็นปัจเจกบุคคลกับความเป็นส่วนรวม และปฏิบัติการจองเวรต่อ webboard และพื้นที่แสดงความคิดเห็นสาธารณะของนักเรียนโรงเรียนต่างๆ โดยครูอาจารย์ทั้งหลายตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา ... แล้วก็มีคำถามว่า ทำไม? เมื่อ เราสวมเครื่องแบบ เราจึงต้องสละความเป็นตัวของตัวเอง แล้วหลอมรวมความรู้สึกนึกคิดเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับแบบแผนของสถาบัน ขนาดนั้น ทำไม? ความเป็นสถาบันจะต้องสูงส่งและยิ่งใหญ่จนความเป็นคนธรรมดาอย่างเราๆ ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของสถาบันเช่นกัน ไม่อาจแตะต้อง ... และถ้าการดำเนินชีวิตประจำวันถูกทำให้กลายเป็นเหมือนพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ไปทุกย่างก้าวเช่นนี้ การเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้หรือ???
และ เมื่อใดก็ตามที่มีความขัดแย้งเกิดขึ้น ในระดับที่กระทบกระเทือนต่อชะตากรรมของสถาบันและผู้บริหาร ความสามัคคี คือสิ่งที่มักจะถูกนำมาอ้าง เพื่อให้ทุกคนยอมเสียสละสิ่งที่พวกเขาสมควรได้รับ เพื่อเห็นแก่ความสงบเรียบร้อยของส่วนรวม ... สุดท้ายแล้ว ก็จะเหลือแต่ความสามัคคีจอมปลอมที่ตั้งอยู่บนความอยุติธรรมเท่านั้น ดังที่เห็นกันว่า "ผู้ใหญ่" ใน สังคมเรา มักใช้ความสามัคคี และชื่อเสียงของสถาบันมาเป็นเครื่องบังหน้าเสมอ เพื่อบิดเบือนความจริง เพื่อปกปิดความผิดและความฉ้อฉลทั้งปวง ให้ยังคงอยู่ในมุมมืดตลอดไป ส่วนคนไทยจำนวนมาก ก็ยังคงเคยชินกับการประนีประนอมและยอมจำนน(ซึ่งได้ถูกสอนมาว่าคือความอดทน)ในทุกสถานการณ์ ทำเหมือนคนอื่นๆ เพียงเพื่อจะเอาตัวรอดไปวันๆ ไม่ต้องเรื่องมาก หรือมีปัญหาใดๆ กับคนที่พวกเขาเชื่อสนิทใจเสียแล้วว่า ... คือ คนใหญ่คนโต ที่พวกเขาไม่อาจเอื้อมไปต่อกรด้วยได้ และจำต้องยอมเป็นเบี้ยล่าง ทำตัวให้น่ารักน่าเอ็นดูเพื่อหวังเพียงความเมตตาบ้างเท่านั้น
ขอ จงพิจารณาดูให้ดี สถาบันนั้นไม่ได้มีชีวิตในตัวของมันเอง คนต่างหากที่ทำให้มันมีความหมาย และแท้จริงแล้วสถาบันถูกสร้างขึ้นมาให้รับใช้คน จะมีประโยชน์อะไร กันเล่า... ถ้าเรารักษาเปลือกอันว่างเปล่าของสถาบันเอาไว้ได้โดยต้องสูญเสียความเป็นคน???

กฎระเบียบ
ทราบหรือไม่? ว่าแท้ที่จริง "อำนาจ" ใดๆ ล้วนแต่มาจากการยอมรับของผู้อยู่ใต้อำนาจทั้งสิ้น และ "กฎ" ต่างๆ ก็มีความศักดิ์สิทธิ์ได้เพราะมีอำนาจต่างๆ สนับสนุน เช่นเดียวกับเงินตราจะมีมูลค่าได้ก็ต่อเมื่อมีทองคำเป็นหลักฐานรองรับ ... สำหรับกฎที่ถือกันเป็นสากลเพื่อรักษาความสงบสุขส่วนรวมนั้น ย่อมมีอำนาจอยู่ในตัวของมันเองอยู่แล้ว นั่นคืออำนาจของ "ความชอบธรรม" ที่ จิตใต้สำนึกของคนมิอาจปฏิเสธได้ ส่วนกฎชนิดอื่นๆ ที่จะบังคับใช้ได้ ขึ้นอยู่กับว่าผู้ออกกฎนั้นมีอำนาจพอหรือไม่ โดยที่ต้นทุนของกฎแต่ละข้อ ก็ยังขึ้นอยู่กับระดับของการบังคับให้คนต้องปฏิบัติในสิ่งที่ฝืนความรู้สึก ตัวเองมากน้อยเพียงใด และต้องคัดง้างกับอำนาจอื่นใดอีกบ้าง ... แต่ในโรงเรียน มีการออกกฎหลายอย่างที่น่าสงสัย ... ว่าคุณค่าของมัน เพียงพอแล้วหรือ? ให้ผลคุ้มค่าหรือไม่? ต่อ การที่จะสถาปนาขึ้นมาเป็นกฎเพื่อปกครองเด็กทั้งหมด และอำนาจที่หนุนกฎกลวงๆเหล่านี้ ก็ไม่ได้มาจากการเข้าใจและยอมรับโดยชอบธรรม แต่มาจากการสร้างความกลัว ความกดดัน ใช้คำว่า ศักดิ์ศรี ความเรียบร้อย ความมีระเบียบ อย่างเลื่อนลอย ... มาทำให้เด็กต้องยอมทำตาม และจะยิ่งกลายเป็นการขยายขอบเขตแห่งอำนาจของโรงเรียนที่มีเหนือตัวเด็กให้ยิ่งใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ... ด้วยวิธีเช่นนี้เอง ทำให้ในโรงเรียน และในสังคมไทยส่วนมาก เกิดภาวะ "อำนาจเฟ้อ" อย่างหนัก ... ลอง สังเกตดู ว่าที่ผ่านมา คนไทยคิดวิธีแก้ปัญหาแบบอื่นๆ ไม่ค่อยเป็น นอกจากมีอะไรก็สักแต่ออกกฎมาบังคับอย่างพร่ำเพรื่อ หรือถ้าถึงแก่อับจนปัญญาเสียแล้ว ก็จะใช้กำลังเข้าปะทะแบบไร้หลักการ ไร้ทิศทางอยู่ร่ำไป ... นี่เป็นเพราะเคยชินกับวิธี คิดแบบอำนาจนิยมมาตลอดนั่นเอง ยิ่งไปกว่านั้น หลายครั้งกฎไม่ได้ถูกใช้เพื่อเจตนารมณ์ที่แท้จริง แต่ถูกครูอาจารย์นำมาตีความบิดเบือน เอาความคิดตัวเองเป็นใหญ่เพื่อใช้บังคับแบบพาลใส่นักเรียน เพียงเพราะคิดไปว่านักเรียนกำลังท้าทายอำนาจของตนเอง นี่หมายถึงอะไร? บรรทัดฐานความดีงาม ความถูกต้องในสายตาของครูอาจารย์เหล่านั้น ไม่มีอะไรมากไปกว่าคติที่ว่า "ใครมิยอมค้อมหัวให้ตูข้า ต้องพิฆาตเข่นฆ่าให้อาสัญ ใครคิดต่างมองเห็นไม่เหมือนกัน มันผู้นั้นเป็นพวกหนักแผ่นดิน" อย่างนั้นหรือ???
จาก ที่กล่าวมา เราคงเริ่มเห็นแล้วว่า ธาตุแท้ของกฎเหล่านี้ คือการบีบบังคับให้คนสละสิทธิและอำนาจส่วนบุคคล แล้วสูบเข้ามาเพิ่มอำนาจรวมศูนย์ในส่วนกลางให้เข้มข้นยิ่งขึ้น สอดคล้องกันพอดีกับภาพการเติบโตพัฒนาของสังคมแบบที่เรียกกันว่า "หัวโตตัวลีบ" ซึ่งไม่ใช่เรื่องบังเอิญอย่างแน่นอน
และนี่คือ ... สิ่งที่ได้รับการกล่าวอ้าง ว่ากฎเหล่านี้มีไว้เพื่อสอนให้มีวินัย อยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างสงบ แต่แท้จริงแล้ว ... สิ่งที่แฝงไว้ คือการสอนให้ยอมสยบต่อกฎและอำนาจที่ไร้เหตุผล ขาดความชอบธรรม ... หก สิบปีแห่งประชาธิปไตย จึงเป็นเพียงแค่การเปลี่ยนรูปแบบภายนอก มีการเลือกตั้ง แต่ยังไม่อาจทำให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในบ้านเมืองอย่างแท้จริง ... ไม่ ต้องไปดูที่ไหนไกล ตามโรงเรียนที่มีคณะกรรมการนักเรียน ส่วนใหญ่แล้วก็เป็นได้แค่หุ่นเชิดของครูอาจารย์ คอยรับคำสั่งบอกบทการทำงานต่างๆ ... ในขณะที่ เชื้อพันธุ์แห่งจิตวิญญาณเผด็จการ ยังคงถูกหมกเม็ดอยู่ในระบบการศึกษาเพื่อรอคอยที่จะฝังรากเหง้าของมันลงสู่ ความคิดของคนรุ่นต่อๆไป สังคมไทยจึงไม่เคยขาด "ทรราช" ที่มีอยู่ทั่วไปทุกแห่งหน เพียงแต่ว่าใครจะได้มีโอกาส จังหวะเวลา และปัจจัยอื่นๆ เพื่อขึ้นมาสู่อำนาจในระดับต่างๆ กันเท่านั้น ... และพวกเรานั่นเองที่ต้องแบกรับผลของกรรมเช่นนี้ตลอดมา ... ถ้า หากจะมีใครได้ศึกษาหาความรู้ทางประวัติศาสตร์เพิ่มเติม นอกเหนือจากประวัติศาสตร์ชาติไทยฉบับกระทรวงศึกษาธิการที่ล้างสมองคนไทยมา นานบ้าง ... ก็จะรู้ซึ้งถึงความหมายนี้เป็นอย่างดี

วัฒนธรรมไทย ใครคือผู้กำหนด?
สิ่งเหล่านี้นี่เอง คือกลไกของระบบการศึกษา ที่ใช้ในการหล่อหลอมความคิดของบุคคล จนกระทั่งเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ พวกเขาจึงได้ไปสร้างระบบการเมือง ระบบสังคม-วัฒนธรรม ระบบราชการ ฯลฯ ตามแม่แบบที่ถูกกำหนดไว้เป็นอย่างเดียวกัน และเชื่อมโยงเป็นโครงสร้างมหึมาในระดับเหนือขึ้นไปกว่านั้น จนกลับมาแผ่ขยายครอบคลุมสังคมไทยทั้งหมดเอาไว้
การ มีวัฒนธรรมนั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เราแยกวัฒนธรรมออกจากวิถีชีวิต แล้วเอาซากของมันไปวางไว้บนหิ้ง ตกแต่งด้วยสิ่งแปลกปลอมต่างๆ เพื่อบังคับให้คนก้มหน้าก้มตากราบไหว้ เมื่อนั้นมันก็ไม่ใช่ความดีงามอีกต่อไป ... แต่จะ กลายเป็นเครื่องมือในการรักษาอำนาจของผู้ที่พยายามผูกขาดแสดงตัวเป็นเจ้าของ วัฒนธรรมนั้น โดยสืบทอดผ่านกระบวนการให้การศึกษา และอบรมเลี้ยงดูสมาชิกใหม่ของสังคมต่อๆ กันไปเป็นวัฏจักร
ขอให้พวกเรา ลองกลับไปคิดดู นี่หรือ? คือวัฒนธรรมที่เราต้องการ? วัฒนธรรม แห่งการใช้อำนาจควบคุม วัฒนธรรมที่ยึดถืออาวุโสและตัวบุคคลเหนือความสามารถ ยึดถือความสัมพันธ์เหนือเหตุผลและความถูกต้อง ยึดถือความสวยงามเหนือแนวคิดและประโยชน์ใช้สอย และยึดถือความสงบเรียบร้อยที่เปลือกนอกเหนือความเป็นธรรม นี่ใช่ไหม? คือสิ่งที่พวกท่านยกย่อง และพยายามยัดเยียดมันให้กับลูกหลาน คิดดูให้ดี ....
เมื่อ เรารู้แล้วว่า สภาพการณ์ที่ทำให้เราต้องปฏิรูปการศึกษา มันไม่ใช่แค่ปัญหาหรืออุปสรรคธรรมดาที่เกิดขึ้นจากความบกพร่อง ความผิดพลาด ความไม่สมบูรณ์ต่างๆ ... แต่เป็นสิ่งที่ถูกกำหนดไว้แล้วอย่างสลับซับซ้อน เพื่อวัตถุประสงค์เพียงหนึ่งเดียว ... ซึ่ง อยู่ตรงกันข้ามกับวัตถุประสงค์และอุดมการณ์ของเราโดยสิ้นเชิง นั่นเท่ากับว่า เราจะยิ่งต้องทำงานหนักกว่าเดิมในการคิดแผนยุทธศาสตร์งานปฏิรูป โดยต้องคิดให้ลึก และไกลยิ่งไปกว่าการที่จะมามัวแต่แก้ไขรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ อย่างเช่นเร่งสร้างโรงเรียนและปั๊มครูออกมาเพิ่ม ซื้อหนังสือคู่มือเตรียมสอบเข้าไปบรรจุให้เต็มห้องสมุด ซื้อคอมพิวเตอร์แจก ทำข้อสอบวัดมาตรฐาน หรือเข็นโรงเรียนให้ได้ ISO เลขเยอะๆ โดยมองข้ามการปฏิรูปวัฒนธรรม แนวความคิดหลักของคนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการศึกษา เพราะมันถึงเวลาแล้ว ... ที่เราจะต้องต่อสู้กับ "ระบบ" ที่ครอบงำพวกเรามายาวนานนับร้อยนับพันปี...

เพื่ออิสรภาพ เพื่อความเป็นไทโดยแท้จริง