วันอังคารที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2552

เชื่อหรือไม่ ครั้งหนึ่ง “การรับน้อง” เคยถูกยกเลิกไปจากเกือบทุกมหาวิทยาลัย, ร่วมรณรงค์ยกเลิก"การรับน้อง"

เชื่อหรือไม่ ครั้งหนึ่ง “การรับน้อง” เคยถูกยกเลิกไปจากเกือบทุกมหาวิทยาลัย

คุณเคยถูกรุ่นพี่หลอกว่าการรับน้องเป็นประเพณีที่เก่าแก่ เปลี่ยนแปลงไม่ได้
... บ้างหรือไม่

ข้อความข้างล่างนี้ คือบางส่วนจาก
อาชญากรรมรัฐในวิกฤตการเปลี่ยนแปลง
เขียนโดย ใจ อึ๊งภากรณ์ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ และคณะ

ในนามคณะกรรมการรับข้อมูลและสืบพยานเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

เป็นการพูดถึงบรรยากาศของนักศึกษาในระหว่างปี 2516-2519
ซึ่งเป็นช่วงประชาธิปไตยเบ่งบาน กลุ่มแนวคิดก้าวหน้ารุกคืบทำลาย
ความคร่ำครึอันไร้สาระของฝ่ายอนุรักษ์นิยมได้อย่างไม่เคยมีมาก่อน

การขยายอิทธิพลที่ก้าวหน้าของฝ่ายนักศึกษานั้น มีผลกระทบอย่างมากต่อการเสื่อมสลายของระบบโซตัส ระบบอาวุโส และประเพณีรับน้องอันเหลวไหลของนิสิตนักศึกษา ซึ่งเป็นกระแสของนักศึกษาในระยะก่อนกรณี ๑๔ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๖ มหาวิทยาลัยรามคำแหงซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเปิด เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกที่ไม่มีระบบรับน้องเช่นนั้น ต่อมา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็เลิกระบบเช่นนั้นตั้งแต่ก่อน ๑๔ ตุลาฯ โดยจะเรียกนักศึกษาใหม่ที่เข้าสู่มหาวิทยาลัยด้วยคำว่า “เพื่อนใหม่” แทนคำว่า ”น้องใหม่” และใน พ.ศ.๒๕๑๗ องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดการรับเพื่อนใหม่ด้วยการจัดสัมมนาเรื่องปัญหาของประเทศไทยในด้านต่างๆ จากนั้นใน พ.ศ.๒๕๑๘ ก็จัดงานรับเพื่อนใหม่ โดยการนำนักศึกษาใหม่ไปฝึกการใช้แรงงานเพื่อให้รู้จักชีวิตชาวนาที่อำเภอ แสวงหา จังหวัดอ่างทอง

ต่อมามหาวิทยาลัยวิชาการศึกษา หรือที่เปลี่ยนชื่อมาเป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และเป็นมหาวิทยาลัยที่มีนิสิตที่เป็นผู้ใหญ่เข้ามาเรียนเป็นจำนวนมากในแต่ละ ปี ก็ล้มเลิกการจัดรับน้องใหม่เช่นเดียวกัน

ส่วนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในช่วงแรก ได้มีการยกเลิกพิธีรับน้องใหม่เป็นบางคณะ คณะอักษรศาสตร์ ครุศาสตร์ และแพทย์ศาสตร์นั้นเริ่มต้นก่อน จากนั้นคณะอื่นๆ ก็ค่อยเลิกรับน้องตามลำดับ จนถึงปี พ.ศ.๒๕๑๙ คณะวิศวกรรมศาสตร์ก็เป็นคณะสุดท้ายที่เลิกงานรับน้อง หลังจากที่นิสิตฝ่ายก้าวหน้า ชนะการเลือกตั้งภายในคณะ และในเวลาต่อมามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และขอนแก่นก็เลิกการรับน้องเช่นกัน คงเหลือแต่เพียงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่ยังดำรงพิธีรับน้องไว้มากที่สุด แต่กระนั้น ใน พ.ศ.๒๕๑๙ คณะต่างๆ ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ก็เลิกรับพิธีรับน้องเช่นกัน เหลือแต่เพียงคณะวนศาสตร์ ที่ยังคงเป็นคณะสุดท้ายที่คงประเพณีการรับน้องไว้อย่างเคร่งครัด

แต่แล้ว ก่อนที่สังคมไทยจะก้าวไปสู่สังคมประชาธิปไตย
สังคมแห่งเสรีภาพและความเท่าเทียม
เหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น
เช้าวันที่ 6 ตุลา 19 คือ จุดเปลี่ยนที่นำพาประเทศไทยกลับถอยหลังไปสู่
ความล้าหลังดั่งเดิม ความล้าหลังที่ยังคงอยู่จวบจนทุกวันนี้

อย่าปล่อยให้สถานศึกษากลายเป็นที่เพาะบ่มความอยุติธรรม
ส่งเสริมความรุนแรง การใช้กำลัง
สั่งสมค่านิยมการเล่นพรรคเล่นพวกและความไร้เหตุผล
ร่วมกันรณรงค์ยกเลิกการรับน้องแบบเดิมๆ


/// ด้วยความระลึกถึงคุณนิพนธ์ โตสิงห์ เหยื่อรับน้องที่เสียชีวิตเมื่อวานนี้