วันอังคารที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2552

"SOTUS" ระบบที่ต้องการคำอธิบาย

5 พฤษภาคม 2548 บริเวณบอร์ดประกาศผลเอนทรานซ์ภายในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เต็มไปด้วยรอยยิ้ม จำนวนมากของวัยรุ่นทั้งชายหญิง ซึ่งต่างมาเฉลิมฉลอง "ชัยชนะ" ในการแข่งขันแย่งเข้าเรียนจากเด็กอีกนับแสนในมหาวิทยาลัยรัฐ บรรยากาศจึงเต็มไปด้วยการบูมรับน้องใหม่จากรุ่นพี่มหาวิทยาลัยต่างๆ

จะ ว่าไปหลายปีให้หลังมานี้บรรยากาศการประกาศผลเอนทรานซ์ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง มากนัก แม้บ้านเราจะเข้าสู่ยุคดิจิตอลจนมีการประกาศผลทางอินเทอร์เน็ตซึ่งทำให้ผู้ เข้าสอบไม่ต้องมานั่งจุดเทียนรอผลเหมือนรุ่นเก่า

แต่สิ่งหนึ่งที่อาจไม่เปลี่ยน หรือเปลี่ยนน้อยมากคือเรื่องของระบบ "SOTUS" ในวิถีการรับน้องของสถาบันอุดมศึกษาส่วนใหญ่ ที่น้องใหม่ทุกคนต้องเจอหลังจากนี้อย่างน้อยสองสามเดือนจนถึงมากที่สุดคือ 1 เทอม...

- 1 -

ผู้ที่เข้าสอบเอนทรานซ์ส่วนมากอาจรู้เรื่องการประเพณีการ "รับน้องใหม่" ในมหาวิทยาลัยต่างๆ มาบ้าง เนื่องด้วยบรรยากาศการฉลองความสำเร็จลักษณะนี้ถูกทำให้สังคมรับรู้ผ่านสื่อ ไม่ว่าทีวี วิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ หรือแม้แต่คนใกล้ตัวที่รอผลสอบในช่วงเดือนพฤษภาคมของทุกปีว่าต้องมีพิธีการ อย่างใดอย่างหนึ่งในการรับน้อง

แต่ภาพที่เห็นในวันประกาศผลเป็นเพียง ปฐมบท...ยังมีกระบวนการหลังจากนี้มากมาย และที่ผ่านมาปฏิเสธไม่ได้ว่าออกไปสู่ความรับรู้ของสังคมน้อยนัก สังคมเพียงรู้ว่าสิ่งนี้ "มีอยู่" และเป็นธรรมดาที่จะมีการ "รับน้องใหม่"

ปัจจุบันหากลองถามคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกเข้าเรียนมหาวิทยาลัยปีแรก สักกี่คนที่รู้ว่า "รับน้อง" ซึ่งลูกหลานอันเป็นที่รักต้องเจอช่วงเปิดเทอมมีรายละเอียดอย่างไร ยิ่งในสังคมปัจจุบันซึ่งผู้ปกครองส่วนใหญ่ทำงานแข่งกับเวลาเพื่อเงิน ความสัมพันธ์ในครอบครัวเหินห่างเด็กสักกี่คนจะมีโอกาสบ่น จะมาปรึกษา ว่าพวกเขาคิดหรือรู้สึกอย่างไรกับกิจกรรมดังกล่าว กิจกรรมที่ไม่ว่าเต็มใจหรือไม่ต้อง "ร่วม" หากไม่อยากแปลกแยก หากอยากได้รุ่น หรือถึงที่สุดอยากอยู่ในสังคมที่เรียกว่า "มหาวิทยาลัย" สังคมแห่ง "ปัญญาชน" ได้

"เป็น เรื่องธรรมดา" "เดี๋ยวมันก็ผ่านไป"..."อย่าคิดมาก สนุกๆ"... เป็นคำตอบหลากแบบที่เด็กปีหนึ่งหลายคนได้ยินเวลาพูดเรื่องนี้กับเพื่อน

- 2 -

ประเพณี การรับน้องเกิดขึ้นเมื่อไร?...จากการตรวจสอบ สมัยที่เริ่มมีการตั้งมหาวิทยาลัยอย่างเช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ไม่เคยปรากฏหลักฐานว่ามีประเพณีดังกล่าว ยิ่งในส่วนของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์ฯ ซึ่งเปิดเพื่อเป็น "บ่อน้ำบำบัดความกระหาย" ของประชาชนยิ่งไม่มีปรากฏ (บางคณะนำมาใช้ราวปี 2510)

ท่ามกลางความขาดแคลนของข้อมูลและแม้แต่รุ่นพี่ที่จัดรับน้องก็ไม่รู้ความเป็นมา เกษร สิทธิหนิ้ว ได้ให้ข้อมูลถึงกำเนิด "โซตัส" เอาไว้ใน "สารคดี" (มิถุนายน 47) ไว้ว่า "โซตัสเกิดขึ้นครั้งแรกที่สหรัฐอเมริกา ก่อนจะเผยแพร่เข้าสู่ประเทศไทยโดยผ่านทางประเทศฟิลิปปินส์ เป็นแนวคิดที่ใช้ในการปกครองและปลูกฝังทหารใหม่ ซึ่งมีหลักอยู่ 5 ประการคือ S-Seniority หมายถึงความสัมพันธ์แบบนับพี่ถือน้อง การเคารพผู้อาวุโสกว่า O-Order คือการปฏิบัติตามคำสั่ง กฎ ระเบียบ วินัยT-Tradition คือการสืบทอดธรรมเนียม ประเพณี ที่ยึดถือปฏิบัติกันมา U-Unity คือการเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในหมู่พวก S-Spirit ความมีน้ำใจ เสียสละเพื่อส่วนรวม"

โดยให้ข้อมูลว่า โรงเรียนป่าไม้ภาคเหนือรับระบบนี้มาใช้เป็นแห่งแรก ดังนั้นเมื่อมีการตั้งเกษตรศาสตร์ ระบบจึงถูกใช้ในการรับน้องด้วย โดยมุ่งให้เป็นตัวละลายพฤติกรรม ลดทอนความต่างของฐานะให้นิสิตใหม่รู้สึกเท่าเทียม มีความรักสามัคคี ต่อมาจึงมีการใช้ในจุฬาฯ และมหาวิทยาลัยอื่นอย่างแพร่หลาย สอดคล้องกับ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ซึ่งพูดถึงที่มาในหนังสือ "หนุ่มหน่ายคัมภีร์" ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ ซึ่งพอจะทำให้ภาพชัดขึ้นมาอีก...

"ระบบ อาวุโส หรือซีเนียริตี้ที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้ แรกเริ่มเดิมทีก็คงจะเป็นสินค้าขาเข้าประเภทฟุ่มเฟือยมาจากต่างประเทศ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศตะวันตก เมื่อเราเริ่มตั้งมหาวิทยาลัย วิทยาลัยอะไรก็ตามขึ้น ก็ได้มีการเน้นสร้างวิชาการและครูบาอาจารย์ด้วยการส่งไปเรียนเมืองนอก นัก เรียนนอกเหล่านั้นมิได้กลับมาด้วยวิชาความรู้แต่อย่างเดียว แต่ยังได้พกระเบียบแบบแผน และประเพณีอะไรต่อมิอะไรเอามาเผยแพร่ต่อในเมืองไทยด้วย ดังนั้น วิธีการรับน้องใหม่ การแบ่งสี หรือการล้อเล่นที่พิสดาร จึงเริ่มแผ่ขยายกระจายทั่วไปในสถาบันการศึกษาของเมืองไทย"

ก่อน จะให้ภาพว่า "ตัวอย่างของการที่ประเพณีประเภทนี้แผ่ขยายเข้ามาในเมืองไทยจะเห็นได้ชัดใน กรณีของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์คือประเพณีการคลุกโคลนปีนเสา...เห็นได้ชัดใน อดีตอันแสนไกลของมหาวิทยาลัยคอร์แนล...ภาพเก่าๆ เกี่ยวกับอดีตของคอร์แนลมักจะมีรูปการปีนเสาทรมานแบบนี้ แต่นั่นก็ได้กลายเป็นอดีตไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ประเพณีการปีนเสานี้ก็ได้แผ่ขยายไปยังฟิลิปปินส์ ในสมัยนั้นฟิลิปปินส์เป็นเมืองขึ้นของสหรัฐอเมริกาอยู่ และคอร์แนลก็ได้มีส่วนร่วมก่อตั้งมหาวิทยาลัยแห่งฟิลิปปินส์ (University of The Philippines) ...คอร์แนลมีคณะเกษตรที่ค่อนข้างมีชื่อเสียง ดังนั้นจึงได้เข้ามามีส่วนช่วยสร้างวิทยาลัยเกษตรที่ลอสบันยอส (ส่วนหนึ่งของ University of The Philippines) ประเพณีการปีนเสาก็ถูกถ่ายเทจากมหาวิทยาลัยเมืองแม่มายังมหาวิทยาลัย อาณานิคม"

"ในที่สุด...ก็แผ่เข้ามาถึงเมืองไทย...ผู้ที่เป็นครูบา อาจารย์ของเกษตรฯ ก็ถูกส่งตัวไปฝึกฝนหาวิชาการความรู้ที่ลอสบันยอส หรือบางครั้งก็ถูกส่งไปถึงคอร์แนล แน่นอนที่สุด ประเพณีที่ว่านี้ก็คงติดตัวบรรดานักเรียนนอกรุ่นนั้นเข้ามา และนี่ก็คือทางเดินของประเพณี วัฒนธรรมต่างๆ จากเมืองแม่มาสู่อาณานิคม และมาถึงบ้านเราในที่สุด...ประเพณีปีนเสานี้อาจจะชี้ให้เห็นชัดของทางเดิน ของระบบอาวุโสและซีเนียริตี้ แต่น่าเชื่อว่าในกรณีของมหาวิทยาลัยอื่นเช่น จุฬาฯ หรือแม้แต่สถาบันระดับรองลงมาก็คงจะได้อะไรต่อมิอะไรมาจากอังกฤษ ยุโรป หรืออเมริกา และผลที่สุดก็ทำให้สถาบันอื่นๆ รับถ่ายทอดตามแบบไป..."

จากการสืบค้น เราพบว่าระบบดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์มาตลอด ในยุค 14 ตุลาคม 2516 มีการลดทอนในบางสถาบันให้เหลือแค่ "รับเพื่อนใหม่" เท่านั้น แต่หลังจากนั้นก็ยังไม่สามารถถอนรากถอนโคนความคิดเรื่องนี้ได้ และมีการถกกันตลอดมาว่าควรจะทำอย่างไรกับระบบดังกล่าว?

ขณะที่สังคมรวมทั้ง "ปัญญาชน" อาจพิจารณาหรือ (ไม่) พิจารณาเรื่องนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าบนหน้าหนังสือพิมพ์ได้รายงานถึงหลายชีวิตที่ต้องสังเวยเป็น ระยะด้วยสาเหตุต่างๆ อันสืบเนื่องมาจากระบบนี้ บางความเห็นก็อาจบอกว่ามาจากตัวน้องใหม่เองหรือพี่ขาดวุฒิภาวะ ถึงที่สุดบางคนชี้ว่าเป็นอุบัติเหตุที่เกิดกับคนจำนวนน้อย
และชีวิตที่เป็นคนส่วนน้อย อาจถูกมองเป็นเรื่องของคนไม่กี่คน ที่รับหรือทนกับระบบไม่ได้เหมือนคนส่วนใหญ่

- 3 -

เหรียญมีสองด้าน มีแม้ด้านที่สามคือไม่พลิก เราลองมาดูเรื่องเหล่านี้ผ่านมุมมองของผู้ที่เกี่ยวข้อง

"ภราดร เสมอภาค ...(กล่าวถึงคำขวัญประจำคณะ) ความหมายมันใกล้ๆ กันมั้ง 5 คำเหมือนกับโซตัส" ต้อม (นามสมมติ) ผู้ผ่านระบบนี้ในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งเล่าประสบการณ์ให้เราฟัง "หลังเอ็นท์ ติดรู้อยู่แล้วว่าต้องโดน ตอนนั้นไม่รู้ว่าคืออะไร ทั่วไปเรียกรับน้อง แต่ที่ที่เคยเรียนอยู่เรียกซ่อมน้อง เป็นมหกรรมการแกล้งคน อำกันสารพัด"

สำหรับเขามหกรรมรับน้องเริ่มขึ้น หลังดูผลเอ็นฯ ได้หนึ่งอาทิตย์ "จริงๆ เคยโดนมาแล้ว (เขาเคยเรียนมหาวิทยาลัยอื่นมาก่อน) แนวโหดขำๆ แต่คณะผมนี้ไม่เหมือนทั่วไป ปี 1-3 ไม่สามารถทำอะไร ปี 4 ถึงได้ซ่อมน้อง เหตุผลคือวุฒิภาวะ ถ้าปีสองทำมันคิดอยู่อย่างเดียว กูจะเอาคืน ล้างแค้น ปีสองจะดูแลน้อง ปีสามก็ช่วยพี่ปีสี่เรื่องซ่อม ปี 4 จะจัดการทุกอย่าง...เพราะช่วงเรียนปี 2-3 มันจะเริ่มสงสัย หากเบากว่าที่เคย โตมาจะเข้าใจ มันเป็นระบบที่มีผ่อนมีตึง มันไม่มีสูตรตายตัว ทุกอย่างอยู่ที่ตัวรุ่นน้องกับพี่ "

ต้อมยังพูดถึงการเตรียมตัวของ นักศึกษาปีสูงในการนี้ "ก่อนรับน้องจะมีประชุม อาจารย์จะร่วมด้วย กำหนดขอบเขต แบ่งว่าใครอยู่ฝ่ายไหน มีว้ากก็ต้องมีปลอบ...ที่ผมได้จากการรับน้องคือคนเราเวลาแกล้งใครมันทุ่มเท มหาศาล ไม่ได้ใช้แต่อารมณ์ มันมีสาระซ่อน ไม่งั้นไม่อยู่ได้มาจนถึงป่านนี้หรอก ถึงบอกนี่คือมหกรรม ไม่ใช่ปีสองมารับปีหนึ่ง ที่เหลือฮากันไป มีการวางแผนล่วงหน้า แบบให้ประทับใจรุ่นน้อง ให้จำกันไปทั้งชีวิตเลย ประมาณนี้"

และเป้า หมายคือความสามัคคี... "มีหลายเคส น้องจะมีสองกลุ่ม มีพวกบอกทนไม่ไหวแล้ว กับพวกหยวนๆ ว่าเดี๋ยวก็หมดช่วง ส่วนมากพวกทนไม่ไหวจะก่อหวอดเกิดการแบ่งพวก สมัยผมมีรุ่นน้องปีหนึ่งโดดการซ่อมทั้งรุ่น หายเรียบ เราปิดซ่อมวันนั้น เพราะถือว่าภราดรสูงมาก ไปก็ไปกันหมด ไม่หายคนสองคน นั่นแหละที่ต้องการ สามัคคีกัน ไม่ใช่มาฟ้องว่าคนโน้นหนี แบบนั้นน่าเกลียด คือให้รวมเป็นหนึ่งเดียว"

ต่อคำถามที่ว่ามันทำให้รักกันจริงหรือเขา บอกเราว่า "ช่วงนั้นรักกันชัวร์ ชื่อพ่อแม่วันเกิดเพื่อนจำได้หมด คุยได้หมด สุดท้ายต้องแบ่งตามสาย เหมือนแก๊งหนึ่งชอบอาร์เอส อีกแก๊งชอบแกรมมี่ ท้ายที่สุดคนเราโตขึ้น มันไปตามทางตัวเอง เรียนแบบไหนก็ไปทางนั้น ตามสาขาที่เรียน แต่โดยพื้นเพมากินเหล้าจะคุยกันได้หมด มันอยู่ที่อุปนิสัยว่าจะคุยกันอย่างไร สุดท้ายเราก็เลือกกลุ่มคล้ายกัน"

การรับน้องสำหรับเขานั้น "เป็นธรรมชาติ เรียนมหาวิทยาลัยต้องโดน ไม่โดนมันเหมือนเรียนได้ไม่เต็มที่ ขาดอะไรในชีวิต เหมือนการผ่านกระบวนการ...เป็น ทหารต้องหัดยิงปืนก่อน ต้องมีขั้นตอน เอาง่ายๆ ต้องซื้อตั๋วไม่ใช่ลักลอบเข้าไป มันส่งผลต่อความรู้สึกนะ ได้รับหรือไม่ได้รับ..แต่ก็มีน้องแอนตี้ บางคนรับไม่ได้ ไม่ชอบโดนบังคับ รับน้องนี่บังคับกันไม่ได้ ...มันต้องมี คือเคยมีรุ่นน้อง ขอไม่เข้าเพราะมีปัญหาที่บ้าน สุดท้ายไม่รู้จะเข้ากับเพื่อนอย่างไร เขาโดนมาหมด ตัวเองไม่โดน เพื่อนไม่ว่าอะไรหรอก แต่ในใจของมันคนเดียว สุดท้ายมันจะหายไปเลย

ก่อนสรุประบบนี้ว่า "เหมือนเกมที่สร้างโดยรุ่นพี่ แล้วแต่พี่มีสติปัญญาแค่ไหน ดีก็ดีไป แต่ถ้าเอาคืนแรงจับน้องกรอกเหล้า แก้ผ้า โดยไม่มีเหตุผลก็ไม่รู้มีเพื่ออะไร นอกจากสร้างรอยแผลให้เอาคืนเฟรชชี่รุ่นต่อไป...ส่วนที่มีข่าวตายคิดว่าเพราะ คึกคะนอง พวกไปทะเลแล้วตายนั่นคือมีตติ้ง มันหมดซ่อมแล้ว ตายคือเมา กินกันแล้วเฮฮา คนมันเยอะ คนแย่มีทุกที่ แล้วมาเป็นพี่ แบบนั้นก็ถือว่าซวยที่เข้าไปเรียน ไปรับน้อง"

เขายังให้ความเห็นใน เรื่องของผลของระบบ SOTUS ต่อชีวิตการทำงาน"ระบบมันไม่ยาวนานขนาดนั้น อาจจะมีเส้นสายบ้าง แต่ปัจจุบันเรื่องสถาบันนี่น้อยแล้ว เป็นเรื่องของมันนี่มากกว่า แต่เมื่อถูกถามว่าถ้าเลิกระบบนี้การเรียนมหาวิทยาลัยจะดำเนินไปได้หรือไม่ เขาบอกเราว่า "ถ้าเลิกนี่อยู่ไม่ได้เลย เจอหน้ามันจะคุ้นๆ แล้วผ่านไป มันไม่รู้จักกัน มีจ๊งมีจ็อบก็เรียกกัน"

....ลองพิจารณาคำตอบของต้อม เราอาจพบอะไรบางอย่าง

ชง (นามสมมติ) อายุ 18 ปี ซึ่งเพิ่งจะเอ็นท์ ติดมหาวิทยาลัยรัฐแห่งหนึ่ง เป็นส่วนหนึ่งของคนที่ได้รับผลซึ่งไม่ค่อยกังวลเรื่องนี้เท่าไร "ไม่กังวล คิดว่าคณะที่สอบเข้าได้ไม่น่าโหด คาดว่าการรับน้อง จะทำให้รู้จักกับคนอื่นและมีความกลมเกลียวกัน ยุคนี้คงสนุกสนานเฮฮามากกว่าโหดครับ ถ้ารู้จักทำกันอยู่ในขอบเขต ส่วนที่ผ่านมามีปัญหาบ้างคิดว่าคงไม่เกิดขึ้นกับตนเอง ยังไงก็คงไม่ถึงตาย อย่างที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของการกระทำที่มากเกินขอบเขตของรุ่นพี่"

ป๋อง (นามสมมติ) อายุ 18 ปี เขาสอบติดมหาวิทยาลัยรัฐแห่งหนึ่งเช่นกันแสดงความเห็นว่า "รับ ให้ดี ให้มีเหตุผล รุ่นพี่ต้องมีวุฒิภาวะ ส่วนตัวไม่อยากให้มี ไม่เชื่อว่าความรักในหมู่เพื่อนที่เกิดจากถูกบังคับจะยั่งยืน ความเลวร้ายของระบบนี้ผมฟังจากคนที่เคยผ่านมาคือ ถ้าใครคิดแตกต่างก็กลายเป็นคนนอก บอกไม่บังคับแต่จริงๆ คือถ้าไม่เข้าก็โดนกฎหมู่บังคับ เป็นกฎที่ไม่มีเหตุผล อยู่ในยุคประชาธิปไตยแล้ว ผมอายุ 18 ปีมีสิทธิเลือกตั้ง คิดเองได้ว่าควรคบใคร ดำเนินชีวิตอย่างไร ทำไมต้องถูกบังคับโดยคนที่อายุมากกว่าตนเองไม่กี่ปี" ก่อนทิ้งท้าย"ผมไม่คัดค้าน อยากรับรับไป แต่ไม่ควรทำให้คนที่คิดแตกต่างต้องมายอมรับด้วย แบบนั้นผมเรียกเผด็จการ"

- 4 -

"SOTUS = Stupid Outdated Tyranny Uncivilized Stop it!!!!"...ข้อความข้างต้นนี้อาจทำความขุ่นเคืองใจให้กับฝ่ายศรัทธาระบบโซตัส แต่เป็นความเห็นจากผู้ที่ศึกษาเรื่องอำนาจ (รัฐศาสตร์) อย่างอาจารย์ใจ อึ๊งภากรณ์

"หลัง 14 ตุลาถึงปัจจุบันมันถอยหลัง มีการนำระบบโซตัสเข้ามา...ที่จุฬาฯ และหลายสถาบันก็หนัก...เรื่องที่ว่าเป็นเหมือนกับการซื้อตั๋วชมคอนเสิร์ตมัน ไม่ใช่ ผมคิดว่าเป็นระบบสร้างเผด็จการภายในสังคมโดยทั่วไป เป็นระบบที่กล่อมเกลานักศึกษาไม่ให้คิดเป็น ใช้ความรุนแรงทางร่างกายและจิตใจเพื่อให้คนเชื่อฟัง ผลิตซ้ำระบบความรุนแรงในสังคม สะท้อนถึงการกลับเข้ามาของแนวปฏิกิริยาและอนุรักษ์นิยมในสังคมไทยหลัง 6 ตุลาคม 2519"

อาจารย์ใจจึงคิดว่า นี่ไม่ใช่กระบวนการเปลี่ยนผ่าน "เป็นเรื่องการเมืองล้วนๆ ประเทศที่ขบวนการนักศึกษาคิดเองเป็น มีความเท่าเทียมในสังคมเขาไม่ทำเรื่องงี่เง่าแบบนี้ ยุโรป ก็เกือบไม่มี นักศึกษาระดับอุดมศึกษาของประเทศที่เจริญแล้วเขาไม่แต่งเครื่องแบบ มาดูเราแล้วเขาก็บอกว่าเหมือนกับเด็ก นี่เขายังไม่เห็นกระบวนการโซตัส ถ้าเขาเห็นเขาจะบอกมันเหมือนทาส" ก่อนให้ความเห็นอย่างตรงไปตรงมาว่า

"มี การจงใจผลิตซ้ำ ไม่ใช่แค่นักศึกษา อาจารย์ก็มีส่วน ที่จุฬาฯ อาจารย์ที่คุมหอพักบังคับนักศึกษาในหอที่มาจากต่างจังหวัด ส่วนใหญ่ยากจนด้วยซ้ำ ต้องร่วมกิจกรรมแบบนี้ทั้งที่คณะและหอพัก ถ้าไม่เข้าร่วมจะให้คะแนนความประพฤติต่ำ โอกาสจะได้ห้องพักในปีต่อไปก็น้อยลง จริงๆ คนทำเรื่องนี้ควรถูกลงโทษ ฝ่ายบริหารไม่ทำอะไรทั้งสิ้น เป็นระบบมาเฟีย...นี่คือการบีบบังคับโดยไม่ชอบธรรมให้นักศึกษาทำกิจกรรมนอก หลักสูตร กิจกรรมที่ทำลายความคิดสร้างสรรค์ จริงๆ มหาวิทยาลัยควรสอนให้เด็กคิดเป็น แต่คนกลุ่มนี้พยายามสืบทอดความคิดว่าไม่ต้องคิด โดนด่าแล้วต้องทำตาม เวลาถูกท้าทายมักมีข้ออ้างว่าประเพณี สามัคคี นี่โกหก"

"นักศึกษา หลายคนไม่พอใจเรื่องนี้...เขากลัวอาจารย์หอ กลัวรุ่นพี่ มันมีการสร้างความกลัวภายในประชาคมว่าใครไม่ร่วมเป็นคนนอก เป็นการกดดันจิตใจ ไม่ถูกต้อง...ทำเพื่อที่จะต้องรู้ว่าใครเป็นรุ่นพี่ ต้องไหว้แบบไร้สาระ ที่รัฐศาสตร์จุฬาฯ รุ่นน้องจะไหว้รุ่นพี่ ต่างกันแค่ปีเดียว แสดงว่าการไหว้ไม่ได้อยู่ที่ใครน่าเคารพ เป็นการบังคับ เป็นเรื่องแย่มากๆ เราต้องมองว่าทำไมคุณภาพการศึกษาต่ำ...มันมาจากความคิดแบบนี้"

"ทำลายศักดิ์ศรีอย่างไร มีงานน่าสนใจชิ้นหนึ่งเขียนโดยนักศึกษา มช. ตอนนั้นเขาอยู่ปีสอง เปรียบสิ่งที่ทำในห้องเชียร์กับสิ่งที่ทหารอเมริกันทำในอิรัก เห็นได้เลยว่านำไปสู่สิ่งสุดขั้วคือการทรมานนักโทษ คนที่ยังไม่ขึ้นศาล มันอาจช่วยให้เกิดกรือเซะ ตากใบ หกตุลาอีก มันทำให้คนมองว่าตัวเองไม่มีค่า...ถ้าการทารุณสร้างความสามัคคี ผมเคยแนะว่าถ้าต้องการก็ทำงานแบบนักโทษ ขุดโคลนออกมาจากท่อ กวาดถนน ทำสาธารณประโยชน์ที่มันยากลำบาก ถ้าคุณต้องการความสามัคคีจริงๆ แต่เขาไม่ทำเพราะจริงๆ มันเกี่ยวกับการสร้างความเคารพรุ่นพี่ นี่คือประเด็น"

ทั้งนี้...ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นอาจจะสะท้อนสภาพสังคมไทยในปัจจุบันได้ไม่มากก็น้อย

แต่ สิ่งที่เราแน่ใจคือ ไม่ว่าสถาบันใดจะใช้ระบบนี้หรือไม่ ก็ไม่ควรมีใครเสียชีวิตหรือได้รับผลกระทบทางจิตใจจากกิจกรรม "รับน้อง" ซึ่งควรจะเป็นกิจกรรมสร้างสรรค์สำหรับอนาคตของชาติ