วันอังคารที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

วิพากษ์ว้าก:บทวิพากษ์แห่งการรับน้องประชุมเชียร์โซตัส(SOTUS)(รุ่น คืออะไร ได้อะไร?)

บทที่ 4

รุ่น คืออะไร ได้อะไร?

“รุ่น” ในความหมายทั่วไป คือลำดับของกลุ่มที่มาก่อนนับต่อมาเรื่อยๆจนถึงปัจจุบัน เช่นรุ่นที่ 1 ของมหาวิทยาลัยก็คือกลุ่มคนทุกคนที่เข้ามาศึกษาตั้งแต่มหาวิทยาลัยก่อตั้งเป็นกลุ่มแรก พอกลุ่มต่อไปก็จะนับเป็นรุ่นที่ 2,3,4 ต่อไปเรื่อยๆมาจนถึงปัจจุบัน ในมหาวิทยาลัยจะมีการนับรุ่นของแต่ละกลุ่มจากกลุ่มใหญ่ไล่มาถึงกลุ่มย่อย คนๆหนึ่งจะมีทั้งรุ่นมหาวิทยาลัย รุ่นคณะ และรุ่นภาควิชา เป็นลำดับไป ความจริงคำว่ารุ่นเฉยๆนั้นไม่มีปัญหาอะไรหรอกถ้าใช้แค่นับว่ามหาวิทยาลัย คณะ และภาควิชานั้นๆก่อตั้งมากี่ปีแล้ว แต่ที่มันมีปัญหาก็เพราะว่า ความหมายของคำว่ารุ่นอีกความหมาย รวมถึงคำว่ารุ่นเองได้ถูกนำมาใช้อ้างเป็นเป้าหมายหลักในการรับน้องประชุมเชียร์นั่นเอง

รุ่น ในอีกความหมายในที่ประชุมเชียร์ คือการให้รุ่นน้องต้องพร้อมกายพร้อมใจตามเงื่อนไข SOTUS เพื่อผ่านการประชุมเชียร์ จึงจะถือว่าคุณได้รุ่นไป ทั้งๆที่คำว่ารุ่นนั้นสุดท้ายก็เป็นเพียงคำๆหนึ่งที่สมมุติขึ้นมาให้เป็นเป้าหมายหลักเท่านั้น การประชุมเชียร์นั้นสร้างสภาพของความรุนแรง ความกดดันทางจิตใจให้กับรุ่นน้อง โดยอ้างถึงการฝึกความอดทนเพื่อเอาคำว่า “รุ่น” ไป ถ้าคุณผ่านแล้วจึงจะนับคุณเป็นรุ่นน้อง (ทั้งๆที่ในความจริง ไม่ว่าคนจะผ่านการเข้าประชุมเชียร์หรือไม่นั้นก็เป็นรุ่นน้องโดยธรรมดาอยู่แล้ว) การประชุมเชียร์จึงเอาคำว่า “รุ่น” เป็นใหญ่ โดยไม่คิดจะอ้างเรื่องศีลธรรมจรรยา ความรักชาติซึ่งมีค่ามากกว่าเลยหรือ? คำว่ารุ่น ผมอยากถามตรงๆว่ามันได้อะไรที่จรรโลงจิตใจบ้าง ได้อุดมการณ์ความรักชาติหรือเปล่า? ไม่ได้ ได้ศีลธรรมจรรยาหรือเปล่า? ไม่ได้ ได้อะไรที่มันทำให้สังคมและประเทศชาติเจริญขึ้นหรือเปล่า? ก็ไม่ได้ ถ้าจะอ้างว่าได้ความอดทน ได้ความกล้าหาญ ได้ความสามัคคีนะหรือ เอ๊ะ แล้วในสังคมที่มันเน่าเฟะ แย่ลงทุกวันอย่างนี้มันไม่ฝึกความอดทนหรือไงครับ? อดทนต่อความชั่วร้ายจนชั่วครองเมืองเละไปหมดน่ะสิ ความกล้าหาญ อืม ความกล้านี้มันเป็นนิสัย เป็นสันดานส่วนบุคคลนะครับ ถ้าคนคิดจะกล้าเขาก็กล้า ถ้าคนไม่กล้าเขาก็ไม่กล้า มันก็ฝึกกันยาก บางทีเขาอาจจะกล้าขึ้นมาสักครั้งในที่ประชุมเชียร์ แต่พอปัญหาภายนอกเราก็ไม่รู้ว่าเขาจะกล้าอย่างนี้หรือเปล่า คุณดูจากเหตุการณ์ปัจจุบันนี้ก็ได้ ถ้าประชุมเชียร์ฝึกความกล้าหาญได้อย่างมีประสิทธิภาพจริง ทำไมวันนี้พลังเยาวชนถึงตกต่ำอย่างมาก ความมีจิตอาสาลดลง ความสนใจในปัญหาเศรษฐกิจ สังคม การเมืองลดลง สนใจยึดติดแต่วัตถุนิยม บริโภคนิยมกันมากขึ้น ไม่เห็นจะมีความกล้าหาญในการใช้ปัญญาคิดวิเคราะห์ช่วยเหลือเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้บ้างเลย กรณีผู้ใหญ่บ้างก็ได้ที่เขาอาจผ่านระบบรับน้องประชุมเชียร์กันมา ยกตัวอย่างเช่นนักการเมืองยังไม่เห็นจะกล้าลาออกจากตำแหน่งทางการเมืองทันทีเมื่อทำผิดเลย ผู้ใหญ่หลายคนไม่เห็นจะกล้าลุกขึ้นมาต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมในบ้านเมือง บ้านเมืองแตกแยกระหว่างความดีกับความชั่ว แต่คนส่วนมากกลับไม่กล้ายืนข้างความดี บอกเป็นกลางโดยไม่รู้ความเป็นไปก็มี หรือหนักที่สุดก็เป็นกลางในแง่ร้ายมองทุกฝ่ายชั่วไปหมดก็มี ไหนล่ะครับความกล้าหาญ?

ส่วนความสามัคคีนั้น ถึงอย่างไรคนอยู่ด้วยกันมันก็ควรต้องมีความสามัคคีกันอยู่แล้ว ไม่ว่าจะคนเข้าประชุมเชียร์หรือไม่เข้าก็ตาม ต้องสามัคคีกันเป็นเพื่อนกันตลอดอย่างน้อย 4 ปีในมหาวิทยาลัย คิดในมุมกลับว่าถ้าคนเข้าประชุมเชียร์กับไม่เข้าประชุมเชียร์ไม่สามัคคีกันล่ะ แบ่งแยกกัน คนเข้าบอกว่า ”เราเข้าประชุมเชียร์ทั้งเหนื่อยทั้งทรมาน แต่นายกลับโดดตลอด สบายตลอด เราอย่าคบกันเลยดีกว่า เอาเปรียบกันจริงๆ” ถ้าเป็นเช่นนี้ก็แสดงว่า การประชุมเชียร์นั้นสร้างความแตกแยกให้เกิดขึ้นมากกว่าสร้างความสามัคคีสิครับ

จากประสบการณ์การเข้าประชุมเชียร์ทุกครั้งของผม ที่ผมได้บอกเล่าไปแล้วว่าความรุนแรงจะเพิ่มระดับขึ้นทุกครั้ง ในก่อนครั้งสุดท้ายและครั้งสุดท้ายนั้นจะแรงอย่างเห็นได้ชัด เมื่อรุ่นน้องไม่สามารถทำตามคำสั่งของรุ่นพี่ได้ ก็เกิดการว้ากอย่างรุนแรงและวุ่นวายมาก ครั้งสุดท้ายก็จะมีการพยายามหาภารกิจให้รุ่นน้องทำพร้อมกันทุกคนให้ได้ ภารกิจสุดท้ายในประสบการณ์ของผมนั้นคือการร้องเพลงมหาวิทยาลัยให้พร้อมกันไปเรื่อยๆหลายสิบครั้งตามจำนวนรุ่น ก่อนครั้งสุดท้ายและครั้งสุดท้ายนั้น เพื่อนหลายคนร้องไห้และป่วย แต่จะมีพี่อีกกลุ่มคอยพาออกไปนั่งพัก ไปปฐมพยาบาล จนจบประชุมเชียร์โดยรุ่นพี่จะบูมให้ ทุกคนจะถือว่าได้คำว่า “รุ่น” ไป จากนั้นก็มีพิธีผูกข้อมือให้พรโดยรุ่นพี่ พี่ว้ากก็กลับสภาพกลายเป็นคนปกติในทันทีทันใด แน่นอนว่าพิธีปิดก็พยายามทำกันให้ซึ้งอยู่แล้วเป็นธรรมดาไม่ต้องพูดกันมาก ถึงเวลานี้ก็ลืมกันหมด แต่ก่อนหน้านี้ที่ร้องไห้กัน ที่ป่วยกันล่ะ เป็นคนเหมือนกันแท้ๆทำกันขนาดนี้เพื่อข้ออ้างในการมอบรุ่นให้ มันคุ้มหรือเปล่า? เพื่อนใคร ลูกหลานใครๆก็รัก เป็นคุณๆอยากให้คนที่คุณรักต้องทรมานอย่างนี้หรือเปล่าล่ะ แล้วรุ่นพี่ทำไมมีสิทธิอะไรต้องมาทำให้ลูกหลานคนอื่นเขาต้องทุกข์เพื่อแลกกับคำสมมุติคำเดียวที่เรียกว่า “รุ่น” กันล่ะ