วันพฤหัสบดีที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

รับน้องปลอดเหล้าปี"53 เน้นพี่น้องปรองดองสร้างสรรค์


โครงการรับน้องปลอดเหล้ายังคงเดินหน้าต่อไปในปีการศึกษานี้

โดยกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และแผนงานทุนอุปถัมภ์ เพื่อสนับสนุนกิจกรรมปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานศึกษา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริม สุขภาพ (สสส.) เพิ่งร่วมกันจัดสัมมนาความร่วมมือการจัดกิจกรรมรับน้องสถาบันอุดม ศึกษาทั่วประเทศ ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม (มจษ.) มี นายไชยยศ จิรเมธากร รมช. ศึกษาธิการ ท.พ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการสสส. ผศ.ดร.สุชาติ ทวีพรปฐมกุล ผู้จัดการแผนงานทุนอุปถัมภ์ สสส. นายสุชาติ เมืองแก้ว อธิการบดี มจษ. และนักศึกษา กว่า 100 คน เข้าร่วมกิจกรรม




พี่น้องปรองดองสร้างสรรค์

จากการบรรยายแนวคิดของแผนงานฯ ต่อการสนับสนุนโครงการรับน้องในสถาน ศึกษา และบรรยายในหัวข้อ "พลังพี่น้อง ปรองดอง สร้างสรรค์ สร้างไทย" รวมทั้งเปิดเวทีระดมความคิดเห็นกิจกรรมรับน้องปลอดเหล้าและสร้างสรรค์

ท.พ.กฤษดา กล่าวว่า โครงการรับน้องปลอดเหล้า ประจำปีการศึกษา 2553 สสส. ได้เน้นจัดกิจกรรมภายใต้สโลแกน "พลังพี่น้อง ปรองดอง สร้างสรรค์ สร้างไทย" เน้นปลูกฝังความรัก ความสามัคคีช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นนโยบายที่ สสส. ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ขณะเดียวกันก็ยังสอดรับนโยบายภาครัฐที่มุ่งเน้นสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นกับคนในชาติ

โดยการจัดกิจกรรมครั้งนี้ ได้มีการสร้างเครือข่ายของนิสิต นักศึกษา จากสถาบันการศึกษา 11 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยนเรศวร พิษณุโลก มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขต หาด ใหญ่ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ มหา วิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม และมหาวิทยาลัย ราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา จัดตั้งเป็น U-Network เพื่อร่วมทำงานด้วยกัน เป็นที่ปรึกษาและพี่เลี้ยงให้แก่สถาบันการศึกษาอื่น เพราะถือว่าเป็นการสร้างเครือข่ายให้นักศึกษาได้ทำกิจกรรมร่วมกันเพื่อผลักดันให้ เกิดชมรมสร้างเสริมสุขภาพภายในสถานศึกษา

อย่างไรก็ตาม เรื่องการรับน้องปลอดเหล้า สสส.ให้ความสำคัญมาแล้วกว่า 6 ปี ในปีนี้มีสถาบันอุดมศึกษาทั้งรัฐและเอกชน เข้าร่วมโครงการแล้วเกิน 50% ของประเทศ คือจำนวน 120 สถาบันจาก 200 สถาบัน ซึ่งเฉพาะในปี 2553 สสส.ได้ทำงานร่วมกับ 98 สถาบันการศึกษา ซึ่งแต่ละปีจะมีนักศึกษาทั้งใหม่และเก่า รวมถึงอาจารย์ เข้าร่วมการรณรงค์ปีละกว่าแสนคน

1.พัฒนพล ศรีน้อย
2.เอกชัย อยู่สวัสดิ์
3.ณัฐพล ศรีบุญเรือง
4.เบญจภา รัตนศรีประเสริฐ
5.ปฐมรัตน์ และ เพื่อน




ศธ.ห่วงร้านเหล้าหน้ามหา"ลัย

ด้าน นายไชยยศ กล่าวว่า ได้มอบให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ประสานกับสถาบันอุดมศึกษาทุกแห่ง ออกระเบียบ มาตรการควบคุมการจัดกิจกรรมรับน้องปีนี้ โดยขอให้มุ่งเน้นการสร้างความปรองดองในสังคม โดยเฉพาะการจัดกิจกรรมต่างๆ ต้องเป็นไปในแนว ทางการเสริมสร้างความสมานฉันท์และความสามัคคี ต้องปราศจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสิ่งเสพติด 100%

นายไชยยศ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังได้เร่งให้ประสานเรื่องการเข้าไปดูแล กวด ขันเรื่องการเปิดร้านเหล้าใกล้สถานศึกษากับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่ามีร้านทำผิดกฎหมายหรือไม่ รวมถึงเข้าไปตรวจสอบว่ามีช่องโหว่ใดที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาที่อายุต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนดซื้อเหล้าดื่มโดยจะต้องมีการสำรวจร้านค้าบริเวณใกล้สถาบันต่างๆ อย่างจริงจัง อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ เป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบกับผลประโยชน์จำนวนมาก การเข้าไปจัดการให้ได้ผลเป็นเรื่องต้องใช้เวลาและความร่วมมือจากทุกฝ่าย

"มาตรการจะเป็นเพียงหลักการเท่านั้น หากไม่ได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะนักศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษาทุกแห่ง ต้องมีบทบาทสำคัญควบคุมดูแลให้อาจารย์ที่ปรึกษา ทุกคนมีส่วนร่วมให้ความรู้ สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องถึงเจตนารมณ์สำคัญของกิจกรรมรับน้อง ดังนั้น ในการจัดกิจกรรมใดๆ ที่เกินเลยความเหมาะสมก็ไม่ควรทำและนักศึกษามีสิทธิ์ตัดสินใจจะเข้าร่วมกิจกรรมแบบสมัครใจด้วย สถาบันการศึกษาจะต้องมีศูนย์ที่จะรับแจ้งเหตุ เพื่อรับข้อมูลกิจกรรมต่างๆ ทั้งนี้หากพบเห็นการจัดกิจกรรมรับน้องที่ไม่เหมาะสมสามารถแจ้งได้ที่ สายด่วนหมายเลข 0-2610-5416-17" รมช.ศึกษา ธิการ กล่าว



เสียงสะท้อนจากน.ศ.

คราวนี้มาฟังเสียงของนักศึกษากันบ้าง

เริ่มที่ นายณัฐพล ศรีบุญเรือง นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า สิ่งที่อยากเห็นในงานรับน้องของทุกมหาวิทยาลัยคืออยากให้มีการรับน้องอย่างสร้างสรรค์ ที่ผ่านมาเราอาจจะเคยชินกับการรับน้องที่รุนแรง ดังนั้น การรับน้องครั้งนี้หากเราได้ร่วมกันเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับการรับน้องให้เป็นการรับน้องที่เติมเต็มในเรื่องของจิตวิญญาณและอุดมการณ์แห่งความเป็นปัญญาชน ที่มองเห็นปัญหาของสังคมมากกว่ามองเห็นปัญหาของตัวเอง

นายพัฒนพล ศรีน้อย นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะนิเทศศาสตร์มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ กล่าวว่า อยากให้งานรับน้องที่กำลังจะเกิดขึ้นของทุกมหาวิทยาลัย เป็นงานรับน้องที่เต็มไปด้วยจิตสำนึกแห่งความดีงาม และเป็นจิตสำนึกแห่งการให้ และไม่อยากให้งานรับน้องต้องใช้เหล้าเป็นประเด็นหลักในการเข้าหาน้อง อยากจะให้ทุกๆ มหาวิทยาลัยยึดหลักของการรับน้องปลอดเหล้าเป็นประเด็นหลักในการเข้าถึงน้อง เพราะเมื่อไม่มีเหล้าสติก็จะเกิดสิ่งที่ดีงามในการเป็นนักศึกษาที่ดีก็จะตามมา และความรักระหว่างพี่กับน้องก็จะเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริงโดยไม่ต้องมีเหล้าเข้ามาเกี่ยว

นายปฐมรัตน์ โพธิ์รักษา กล่าวว่า ไม่ว่างานรับน้องหรืองานอะไรที่เกี่ยวกับชีวิตของนักศึกษาในหลายๆ มหาวิทยาลัย ไม่ควรที่จะมีการนำสุรา อาทิ เหล้า เบียร์ เป็นต้น เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง เพราะตัวอย่างก็มีให้เห็นกันมากมาย เมื่อเหล้าหรือเบียร์เข้าปากไปแล้วเป็นอย่างไร

และสิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะลืมไม่ได้คือปัจจุบันนี้สถานศึกษาหลายแห่งมีร้านขายเหล้าขายเบียร์เปิดขนาบข้างอยู่เต็มไปหมด ดังนั้น จึงอยากให้มีการเข้มงวดกวดขันในเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะเมื่อมีแหล่งอโคจรในการนัดพบ พี่ชวนรุ่นน้องไปรุ่นน้องก็ต้องไป แต่เมื่อสถานที่ขายเหล้าขายเบียร์เหล่านี้เข้าถึงยาก ก็จะลดความเสี่ยงในเรื่องนี้ไปด้วย พวกเราก็เลยอยากให้มีการกวดขันร้านเหล้าร้านเบียร์ที่อยู่ใกล้กับสถานศึกษาไม่ให้มีอีกต่อไป



ยังห่วงรับน้องโหด

นายเอกชัย อยู่สวัสดิ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ โปร แกรมรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา กล่าวว่า เรื่องของการดื่มเหล้าดื่มเบียร์ในงานรับน้องนั้น มองว่ามันเป็นสาเหตุที่นำไปสู่ความรุนแรง กินทุกครั้งเกิดความรุนแรงทุกครั้ง โดยจะเห็นจากข่าว รุ่นพี่รับน้องโหดทุกครั้ง ดังนั้น สิ่งที่จะต้องรณรงค์ควบคู่ไปกับงานรับน้องปลอดเหล้าด้วย คือการรณรงค์ไม่ให้รุ่นพี่ใช้ความรุนแรงกับน้องด้วย หลายคนยังยึดติดกับค่านิยมที่ยิ่งรับน้องรุนแรงก็จะยิ่งรักกันมากขึ้นนั้น ควรจะเปลี่ยนความคิดเสียใหม่ เพราะเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนไม่ชอบใช้ความรุนแรงและไม่ควรเริ่มความรักความสัมพันธ์ด้วยความรุนแรง ไม่รุนแรง ไม่ชวนน้องดื่มเหล้า ดื่มเบียร์ ซึ่งตนเชื่อว่าปัญหาอีกหลายอย่างก็จะหมดไป

น.ส.เบญจภา รัตนศรีประเสริฐ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะเทคโนโลยีมีเดีย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า เรื่องที่น่าจะเร่งรณรงค์เป็นอันดับแรกในการรับน้องที่จะเกิดขึ้นในหลายๆ มหา วิทยาลัยคือ การเร่งสร้างในเรื่องคุณธรรมและจริยธรรม คำสองคำนี้ถือว่ามีความหมายอย่างมากสำหรับนักศึกษาในยุคปัจจุบัน เพราะปัญหาในสังคมหลายอย่างเกิดขึ้นเพราะคนหลายคนที่มีอำนาจในสังคมขาดความตระหนักอย่างแท้จริง ซึ่งหากนักศึกษาที่เป็นวัยเริ่มต้นของชีวิตหนุ่มสาวตระหนักและเข้าถึงคุณธรรมและจริยธรรมก็จะนำพาไปสู่สังคมที่ดีงามได้ และเมื่อนักศึกษามีคุณธรรมและจริยธรรมอย่างแท้จริงการชักชวนกันไปดื่มเหล้าในงานรับน้องก็จะไม่มีเกิดขึ้น

เป็นอีกความห่วงใยที่มีต่อการรับน้อง



ปฏิญญารับน้อง

เครือข่ายของนิสิต นักศึกษา จากสถาบันการศึกษา 11 แห่ง สสส.และ ศธ. ได้ร่วมกันสร้างปฏิญญา 5 ข้อ เพื่อนำไปสู่แนวทางการดำเนินกิจกรรมนักศึกษาที่เข้มแข็งในอนาคต และมอบให้กับนายไชยยศ จิรเมธากร รมช.ศึกษาธิการ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้ 1. เครือข่ายสถาบันอุดมศึกษา จะดำเนินการจัดกิจกรรมภายใต้นโยบาย กฎระเบียบ และข้อบังคับของสถาบันการศึกษา และกระทรวงศึกษาธิการอย่างเคร่งครัด 2. เครือข่ายสถาบันอุดมศึกษา โดยการดำเนินงานขององค์การ สโมสร นิสิตนักศึกษา จะจัดกิจกรรมอย่างสร้างสรรค์ โดยดำรงไว้ซึ่งการรักษาขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรมไทย และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

3. เครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาจะมุ่งเน้นกิจกรรมสร้างสามัคคีปรองดอง โดยจะเคารพซึ่งสิทธิเสรีภาพความเป็นมนุษย์ 4. เครือข่ายสถาบันอุดมศึกษา จะมุ่งเน้นการดำเนินกิจกรรมในการพัฒนาชุมชน และสังคม ซึ่งจะรวมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศ 5. สถาบันอุดมศึกษา จะร่วมกันก่อตั้งเครือข่ายผู้นำนิสิต นักศึกษา สถาบันระดับอุดม ศึกษาทั่วประเทศ ในการพัฒนานโยบายการดำเนินงานด้านกิจกรรมนักศึกษาร่วมกัน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไทย