วันอังคารที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

แนะนำหนังสือน่าอ่านครับ

ชื่อหนังสือ :ว้ากน้อง การสร้างและสืบทอดระบบเผด็จการในมหาวิทยาลัย
โดย :ธเนศวร์ เจริญเมือง

มี 3 ฉบับนะครับ ฉบับที่ 1 เขียนเมื่อปี 2535 ฉบับที่ 2 เขียนเมื่อปี 2543 ฉบับที่ 3 เขียนเมื่อปี 2548 ถ้ามีเวลานะครับอยากให้อ่านเรียงกันตั้งแต่เล่ม 1-3 แต่ถ้าไม่มีเวลาหาเล่ม 3 มาอ่านอย่างเดียวเลยครับเพราะอาจารย์แกรวมเล่มแบบสรุปเล่ม 1-2 ไว้ที่เล่ม 3 หมดแล้ว


ตัวอย่างบทความในหนังสือครับ

" คำกล่าวที่ว่านักเรียนมัธยม และนักศึกษาปี 1 ไม่หวงแหนสิทธิเสรีภาพของตนเอง จึงเป็นข้อเท็จจริงที่สะท้อนให้เห็นพื้นฐานความเป็นมาของเยาวชนไทย ขณะเดียวกันกรณีนักศึกษามหาวิทยาลัยปี 2 - ปี 4 ทำตัวเป็นจอมเผด็จการ ผูกขาดอำนาจ สถาปนาตนเองเป็นรุ่นพี่ ทั้งๆ ที่อายุห่างกันเพียงไม่กี่เดือนหรือเพียง 1-2 ปี และใช้อำนาจเผด็จการเถื่อน กดขี่ข่มเหง ข่มขู่ และบีบบังคับลงโทษรุ่นน้องที่ด้อยกว่าในทุกๆ ด้าน ก็สามารถอธิบายพื้นฐานความเป็นมาของพฤติกรรมเหล่านั้นได้ในทำนองเดียวกัน
พื้นฐานความเป็นมาดังกล่าวก็คือ

ข้อแรก การดำรงอยู่ของความคิดที่ไม่ให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมกิจกรรมทางสติปัญญา เน้นหนักในเรื่องของความสนุกสนาน ฉะนั้นกิจกรรมต่างๆ จึงมุ่งไปที่การร้องเพลง การเชียร์กีฬา การกินเลี้ยง จัดงานรื่นเริง ฯลฯ

ข้อสอง การดำรงอยู่ของความคิดแบบศักดินา คือ ความรักของรุ่นพี่เป็นความรักที่มีเงื่อนไขหวังผลตอบแทน ไม่ใช่ความรักแบบ "พี่มีแต่ให้" กล่าวคือ ที่พี่รักน้อง อุตส่าห์ไปรับน้องมาโดยรถไฟ อุตส่าห์จัดงานให้น้อง อุตส่าห์สอนน้องให้ร้องเพลงเชียร์ได้ รู้วิธีไปลงทะเบียนวิชาต่างๆ ได้ อุตส่าห์แหกปากตะโกนว้ากน้อง ดุด่าน้อง สั่งลงโทษน้องตอนดึกๆ อุตส่าห์จัดประชุมเชียร์จนดึกทุกวัน ฯลฯ ก็เพราะ พี่อยากให้น้องรักกันรู้จักกัน สามัคคีกัน ช่วยเหลือกัน โดยที่น้องจะต้องเชื่อฟังพี่ พี่สั่งอะไรน้องต้องทำตาม อย่าดื้อ อย่าเถียง อย่าคัดค้าน ฯลฯ เพราะความคิดเห็นที่แตกต่างจะไม่ก่อให้เกิดความสามัคคี แต่จะก่อให้เกิดความแตกแยกขัดแย้งในสังคม

นี่เป็นความคิดแบบศักดินาประเภทคลาสสิค เพราะ พี่เห็นว่าน้องยังเด็ก ยังไม่รู้อะไร ต้องให้พี่ช่วยเหลือดูแลทุกสิ่งทุกอย่าง พี่จึงไม่ได้มองน้องว่าเป็นคนเท่าเทียมกัน มีสิทธิเสรีภาพที่จะเลือกทำอะไรก็ได้ พี่เห็นว่าน้องต้องไม่โต้เถียงพี่ กิจกรรมต่างๆ พี่เท่านั้นเป็นคนกำหนด น้องไม่มีสิทธิเลือก ไม่มีสิทธิออกความเห็น ไม่มีสิทธิปฏิเสธ ถ้าน้องทำผิดหรือทำไม่ถูกใจพี่ พี่มีสิทธิลงโทษน้องได้ทุกอย่าง และถ้าน้องยอมทำตามทุกอย่างที่พี่บอก พี่ก็จะดูแลน้องต่อไป ให้ความรักต่อน้อง ในอนาคตพี่ก็จะไม่ทอดทิ้งน้อง (ช่วยหางานให้ ใช้เส้นสาย ใช้ระบบพรรคพวก) แต่ถ้าน้องดื้อรั้น ไม่ยอมเชื่อฟังพี่ พี่ก็จะตัดน้องออกจากกลุ่ม จะไม่ดูแลและนับถือกันเป็นพี่เป็นน้องอีกต่อไป

โปรดสังเกตว่าความคิดเหล่านี้ มีพื้นฐานมาจากระบบการอบรมเลี้ยงดูและระบบการศึกษาที่ดำรงอยู่ในสังคมไทยนั่นเอง

สรุปว่า ถ้าเราจะตำหนินักศึกษาปี 1 ซึ่งเป็นน้องใหม่ว่า ทำไมไม่คัดค้าน ทำไมไม่หวงแหนสิทธิเสรีภาพของตัวเอง ทำไมไปยอมให้รุ่นพี่โขกสับจนดึกดื่นทุกวัน เราก็ควรตั้งคำถามต่อนักศึกษาปี 2 - ปี 4 (กระทั่งบัณฑิตหลายคนที่แม้จะจบไปแล้ว ก็ยังมาช่วยดูแลควบคุมการว้ากน้อง) ว่าทำไมจะต้องไปข่มเหงรังแกรุ่นน้องเช่นนั้น ทำไมเรียนหนังสือมากกว่าใครๆ ในสังคม แต่จิตใจยังชอบเผด็จการ ชอบบีบบังคับลงโทษคนอื่นๆ เช่นนี้

พฤติกรรมที่นักศึกษาปี 2 - ปี 4 นิยมใช้อำนาจบีบบังคับ ข่มขู่และลงโทษนักศึกษาที่เข้าใหม่ สะท้อนให้เห็นสภาพที่เป็นจริงทางการเมืองการปกครองในสังคมไทยระดับชาติได้เป็นอย่างดี ระบบการปกครองของไทยที่ผ่านมามีลักษณะค่อนไปทางเผด็จการ 60 ปีที่ผ่านมาของระบอบประชาธิปไตยพัฒนาอย่างลุ่มๆ ดอนๆ พรรคการเมืองล้มลุกคลุกคลาน ทหารแทรกแซงการเมืองด้วยการก่อรัฐประหารถึง 10 กว่าครั้ง มีการยุบรัฐสภาเกือบ 10 ครั้ง และฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งถึง 10 กว่าฉบับ นายกฯ ที่มีจากทหารครองอำนาจรวมเวลาถึง 44 ปี ในช่วง 60 ปี อำนาจทางการเมืองจึงอยู่ในมือคนส่วนน้อยที่พยายามรวบอำนาจไว้เป็นของตนเอง ระบบราชการใหญ่โตมาก การรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลางมีมาก ท้องถิ่นมีอำนาจของตัวเองน้อย มีการใช้สิทธิใช้เสียงแบบประชาธิปไตยที่จำกัดในระดับโรงเรียนครอบครัวและสังคม"

ในหนังสือมีอีกเยอะครับมีการเขียนเล่าประสบการการรับน้องของคณะต่างๆในมหาวิทยาลัยในภาคเหนือด้วยครับ สนใจหาอ่านหรือหาซื้อได้ครับ ลองค้นดูในกูเกิล